วันพฤหัสบดีที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2551

โรงเรียนของหนู....อยู่บนดอย



ครู 2 คน โรงเรียน 2 หลัง นักเรียนเกือบ 40 คน

สอนตั้งแต่ชั้นเด็กเล็ก จนถึงป.6 เท่าเทียมกันไหม?? การเมืองไทยเถียงกันอยู่ ได้! กลับมามองสังคมอีกใบได้แล้ว อย่าปล่อยให้โอกาส ช่องว่าง ห่างกันไกล กว่านี้เลย....
.....ขอชื่นชมและยินดีกับน้องๆ ชมรมกลุ่มนกเสรี มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จ.เชียงใหม่ ไม่นิ่งดูดาย จับปากกาเขียนโครงการฯ ขอทุนจากเครือข่ายพุทธิการ่วมกับ สสส. ก็เป็นผล ได้ช่วยเหลือสังคมกับนักเรียนโรงเรียนบ้านสบผาหลวง(อยู่บนยอดดอยปู๊ด!!) อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ ในวันที่ 12-18 ตุลาคม 51 กว่า 45 คน ผู้เสียสละความสะดวกสบายจาก สังคมเมืองมุ่งสู่สังคมชนบทอย่างแท้จริง ได้ร่วมกิจกรรม ทาสีโรงเรียน ให้อาคารใหม่กับน้องๆ ซ่อมอาคาร สร้างสวนผัก อาหารกลางวัน เรียนรู้วิถีชีวิตและวัฒนธรรมชุมชนสบผาหลวง(ชาวปากญอ)
..กว่าจะมาถึงโรงเรียนสบผาหลวงก็ใช้เวลานานหลายชั่วโมง ว่ากันว่า 110 กิโลเมตรที่เดียวแต่ที่เยี่ยมกว่านั้น..ขึ้นดอยตลอดทางใครที่เคยไปอ.สะเมิง ก็ยังไม่ถึงครึ่งทาง เมารถกันเป็นรายๆ แต่เด็ดกว่านั้นทางเข้าโรงเรียนรถที่ไปส่งเข้าไปไม่ได้ น้องๆ เจ๋งมากเดินเท้า 9.5 กิโลเมตร คิดเองว่าเดินขึ้นและลงดอยตลอดเส้นทางจะขนาดไหน???? สุดซึ้ง...นี่แหล่ะครูบนดอย...กับนักเรียนที่มุ่งมั่น สร้างฝันกับความจริงของตนเอง ...ไฟฟ้าพอมี (แผงโซล่าเซล) ฟ้ามืดครึ้มฝนตกก็จ๋อย..น้ำดื่มก็ต้องต้ม น้ำใช้บางวันปะปาภูเขาขัดข้องก็ต้องรอไปก่อนซ่อมได้ก็ค่อยใช้ระหว่างรอก็ลงห้วย ขนน้ำกินน้ำใช้ไปก่อน ไม่ต้องคิดถึงเรื่องสัญญาณโทรศัทพ์ที่ว่าดีๆ ก็ลืมไปเลย พกไม้ขีดไฟจุดฟืนผิงกาย ทำกับข้าวดีกว่า อากาศที่นั่นหนาวแล้ว ใครจะขึ้นดอยก็เอาเสื้อกันหนาวไปด้วยเด้อ หรือสนใจร่วมกิจกรรม ช่วยเหลือน้องๆ ก็ติดต่อน้องชมรมกลุ่มนกเสรี ผ่านกรีนเนทได้นะ

วันพุธที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2551

รากแรกแห่งกระบวนกร

สืบเนื่องจากที่ศิษย์รุ่นที่แล้ว ได้สำเร็จวิทยายุทธกระบวนกรจากเสมสิกขาลัย จนบัดนี้ได้ท่องยุทธจักรกับงานสุขแท้ด้วยปัญญา เดินสายไปทั่วราชอาณาจักรไทยมากกว่าเดิม คราวนี้ข้าพเจ้าจึงขอโอกาสนั้นบ้างเพื่อให้ได้เรียนรู้และขัดเกลาตัวเองมากขึ้น แต่ก็มีเสียงเตือนจากศิษย์พี่หลายท่านบอกถึงกระบวนการอบรมที่ค่อนข้างกดดัน และหนักเอาการกับการที่ต้องเตรียมกระบวนการต่างๆ ตลอดจนเมื่อผ่านวิชาสำนักนี้แล้วก็มีงานให้เอาไปใช้มากขึ้นด้วย อิ อิ

ครานี้มีว่าที่กระบวนกรมาจากหลากหลายภาคส่วนกว่า ๒๒ คน เช่น จากเชียงราย เชียงใหม่ ชัยภูมิ เพชรบูรณ์ ขอนแก่น สงขลา กรุงเทพฯและเวียงจันทร์ ประเทศลาว อีกทั้งยังมิได้มีแต่เราผู้ดำรงเป็นฆราวาสเท่านั้น แต่เพื่อนร่วมรุ่นคราวนี้มีสมณะสงฆ์อีก ๓ รูปด้วยกันทั้งภิกษุไทยและจีน ทำให้เริ่มตระหนักได้ว่า "กระบวนกร ๑" คงมีความน่าค้นหาอะไรมากขึ้นกว่าที่เราคิด ทำไมการเป็น
กระบวนกรจึงได้รับความสนใจจากบุคคลหลากหลายบทบาท
หลากหลายภาคส่วน ทั้งNGO และเอกชน

ตอนเริ่มอบรมวันแรกหลายคนอดบ่นไม่ได้ว่าเนื้อหามันหนัก ทำไมทีมวิทยากรจะต้องให้เรารู้อะไรเยอะอย่างนั้น แต่ก็มาถึงบางอ้อตอนที่ให้เราฝึกทำเป็นกระบวนกรจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นการฝึกการจับประเด็น การใช้ประโยคคำถาม การวางแผนวิธีคิด และการถอดบทเรียนเพื่อการเรียนรู้อย่างมีส่วนรวมเลยได้รู้ตัวกันหมดเลย พร้อมฟันธงว่าห้ามตัดเนื้อหาที่ต้องเรียนในวันแรกเด็ดขาดในรุ่นต่อไป เพราะเป็นเรื่องปัจจัยพื้นฐานที่จะนำมาเพิ่มทักษะการเป็นกระบวนกรที่ดีมากขึ้น แต่ในใจก็คิดเหมือนกันนะว่า ที่กรีนเนท ก็มีพี่ๆ หลายคนไม่ว่าจะเป็นพี่วิฑูรย์ พี่ธวัชชัยก็จะคอยให้พวกเรานักส่งเสริมทั้งหลายฝึกทักษะพวกนี้บ่อยๆ ทั้งบังคับและขอร้องให้ทำไม่ว่าจะเป็นรูปแบบ รายงานการทำงาน การเขียนบทความ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกันเอง หรือ กระทั่งการเขียน block นี้เองก็ตาม ก็อย่างว่าบางครั้งคนเรามักจะไม่ค่อยได้ส่องกระจกมองดูตัวเองเท่าไร แต่มักจะเพ็งเล็งคนอื่นที่เห็นซะคุ้นชินมากกว่า พอมีคนอื่นมาบอกว่าเห็นเงาเราในกระจกบ้างก็พึ่งจะรู้ตัวเอง
หลายคนเมื่อได้ส่องกระจกตัวเองแล้ว แต่ละคนก็ตระหนักได้ว่าความยากในการเป็นกระบวนกรของแต่ละคนมีข้อที่ต้องแก้ไขไม่ได้ต่างกันมากนัก โดยเฉพาะคนที่ทำงานในภาคพัฒนาสังคมมักมีปัญหาในเรื่อง "อัตตา" หรือตัวตนของตนเอง เพราะเป็นสาเหตุใหญ่สำคัญที่ทำให้ก่อเกิดการใช้อำนาจเหนือได้ง่ายมาก แถมยังจะพาพรรคพวกอีกหลายตัวมาใช้ในเวทีการเรียนรู้อีก เช่น การชักนำประเด็น การพูดจูงใจให้เห็นคล้อยตาม การด่วนตัดสินคนอื่น จนกระทั่งการยึดพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนไปทั้งหมด ซึ่งก็ทำให้เวทีในการแลกเปลี่ยนอย่างกัลยาณมิตรหายไปทันที เรียกได้ว่า คิดแทน ผู้แทน และทำแทนอีกด้วยในบางครั้ง
ดังนั้นพวกเราที่เป็นนักส่งเสริมคงต้องมี "การฝึกตน"อย่างหนักทีเดียวไม่ว่าจะเป็นการวางฐานรากแห่ง สติ สมาธิและปัญญา ให้พร้อม บวกกับทักษะต่างๆ เช่น การจับประเด็น การตั้งประโยคคำถาม ระบบวิธีคิดที่ชัดเจนไม่ว่าจะเป็นผู้ถ่ายทอด หรือ ผู้รับสาร จนถึงการถอดบทเรียนร่วมกัน ส่วนใครที่ต้องการจะฝึกและต้องการได้รับคำติชมก็บอกกันได้นะ มีศิษย์พี่หลายคนที่คอยช่วยกันขัดเกลาอยู่

วันอังคารที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2551

ข้อคิดจากถังน้ำสองใบ

หลังจากทำบุญตักบาตรแล้ว จิตใจก็สดชื่นแจ่มใส แม้จะมีเรื่องที่ทำให้หงุดหงิดบาง ก็ดูเหมือนว่าจะเป็นเรื่องเล็กไปเลยถนัดตา มีเรื่องเล่าดีมาให้อ่าน หลายคนอาจเคยอ่านแล้ว ก็ไม่เป็นไรหากเราจะอ่านมันอีกครั้ง เขาว่ากันหากเรารับข้อมูลดี ๆ ซ้ำๆอยู่บ่อย ๆ ก็จะทำให้เราเป็นคนมีความสุขนะ เรื่องมีอยู่ว่า :

ชายจีนคนหนึ่งแบกถังน้ำสองใบไว้บนบ่าเพื่อไปตักน้ำที่ริมลำธาร ถังน้ำใบหนึ่งมีรอยแตก ในขณะที่อีกใบหนึ่งไร้รอยตำหนิและสามารถบรรจุน้ำกลับมาได้เต็มถัง...


แต่ด้วยระยะทางอันยาวไกลจากลำธารกลับสู่บ้าน....จึงทำให้น้ำที่อยู่ในถังใบที่มีรอยแตกเหลืออยู่เพียงครึ่งเดียว เหตุการณ์ทั้งหมดนี้ดำเนินมาเป็นเวลา 2 ปีเต็มที่คนตักน้ำสามารถตักน้ำกลับมาบ้านได้หนึ่งถังครึ่ง....ซึ่งแน่นอนว่าถังน้ำใบที่ไม่มีตำหนิจะรู้สึกภาคภูมิใจในผลงานเป็นอย่างยิ่ง


ขณะเดียวกันถังน้ำที่มีรอยแตกก็รู้สึก อับอายต่อความบกพร่องของตัวเอง มันรู้สึกโศกเศร้ากับการที่มันสามารถทำหน้าที่ได้เพียงครึ่งเดียวของจุดประสงค์ที่มันถูกสร้างขึ้นมา หลังจากเวลา 2 ปีที่ผ่านมา ถังน้ำที่มีรอยแตกมองว่าเป็นความล้มเหลวอันขมขื่นและสิ้นหวัง

วันหนึ่งที่ข้างลำธาร ถังน้ำได้พูดกับคนตักน้ำว่า "ข้ารู้สึกอับอายตัวเองเป็นเพราะ รอยแตกที่ด้านข้างของตัวข้าที่ทำให้น้ำที่อยู่ในถังไหลออกมาตลอดเส้นทาง ที่กลับไปยังบ้านของท่าน" คนตักน้ำตอบว่า "เจ้าเคยสังเกตหรือไม่ว่ามีดอกไม้เบ่งบานอยู่ตลอดเส้นทางในด้านของเจ้า... แต่กลับไม่มีดอกไม้อยู่เลยในอีกด้านหนึ่งเพราะข้ารู้ว่าเจ้ามีรอยแตกอยู่.... ข้าจึงได้หว่านเมล็ดพันธุ์ดอกไม้ลงข้างทางเดินด้านของเจ้าและทุกวันที่เราเดินกลับ... เจ้าก็เป็นผู้รดน้ำให้กับเล็ดพันธุ์เหล่านั้น เป็นเวลา 2 ปี ที่ข้าสามารถจะเก็บดอกไม้สวย ๆ เหล่านั้นกลับมาแต่งโต๊ะกินข้าว ถ้าหากปราศจากเจ้าที่เป็นเจ้าแบบนี้แล้ว..เราก็คงไม่อาจได้รับความสวยงามแบบนี้ได้"

คนเราแต่ละคนย่อมมีข้อบกพร่องที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง... แต่รอยตำหนิและข้อบกพร่องที่เราแต่ละคนมีนั้น อาจช่วยทำให้การอยู่ร่วมกันของเราน่าสนใจ และกลายเป็นบำเหน็จรางวัลของชีวิตได้.... สิ่งที่ต้องทำก็เพียงแค่ยอมรับคนแต่ละคนในแบบที่เขาเป็น.. และมองหาสิ่งที่ดีที่สุดในตัวของพวกเขาเหล่านั้นเท่านั้นเอง


ขอขอบคุณข้อมูลจาก Forward Mail