วันอังคารที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ปาฎิหาริย์แห่งการตื่นอยู่เสมอ The Miracle of Being Awake

ติช นัท ฮันห์ เขียน

พระประชา ปสนนธมโม แปล

การดำรงอยู่ของชีวิต เป็นความจริงที่ลึกลับปาฏิหาริย์ หลายคนอาจคิดว่าการเดินบนน้ำหรือบนอากาศ หรือการรอดชีวิตจากอุบัติเหตุเป็นเรื่องปาฏิหาริย์ แต่ท่านติช นัท ฮันห์ กล่าวว่า ปาฏิหาริย์ที่แท้จริง มิใช่การเดินบนน้ำหรือบนอากาศ หากแต่เป็นการเดินบนพื้นโลกอยู่กับความอัศจรรย์ทุกๆวัน เพราะการมีสติ เป็นสิ่งอัศจรรย์ตรงที่ช่วยให้เราเป็นนายของตนเอง และรักษาใจตนเองอยู่ได้ในทุกๆสถานการณ์
การมีสติไม่ได้มีแค่ตอนนั่งสมาธิ เท่านั้น แต่มีในทุกอาการ เช่น ในการล้างจาน ถ้าเรามีสติ ก็ควรล้างจานอย่างเดียว ซึ่งหมายความว่า ขณะล้างจานเราก็ต้องรู้ตัวทั่วพร้อมว่าเรากำลังล้างจาน ดังตอนหนึ่งของหนังสือว่า ครูกำลังยืนตรงนั้น และล้างถ้วยชามเหล่านั้นอยู่ เป็นความจริงที่ถือว่าเป็นความความอัศจรรย์ ครูเป็นตัวของตัวเองอย่างสมบูรณ์ ตามลมหายใจตลอดเวลา รู้ตัวพร้อมถึงปัจจุบันกาลของตนเอง รู้พร้อมทั้งมโนกรรม และวจีกรรมต่างๆ ไม่มีทางที่จะทำให้ใจของครูแกว่งไปแกว่งมาเหมือนขวดแกว่งบนยอดคลื่น ความสำนึกของครูไม่มีอะไรจะมาทำให้ไหวหวั่นได้ ดังฟองน้ำบนผิวคลื่นที่ซัดกระแทกกับหน้าผา
ในกิจวัตรชีวิตประจำวัน เช่น การกิน การดื่ม การทำงาน ล้วนเป็นโอกาสแห่งการเจริญสติได้ ดังความตอนหนึ่งของหนังสือว่า เมื่อเดินอยู่ ย่อมรู้ชัดว่าเราเดินอยู่ เมื่อยืนอยู่ ย่อมรู้ชัดว่าเรายืนอยู่ เมื่อนั่งอยู่ ย่อมรู้ชัดว่าเรานั่งอยู่ เมื่อนอนอยู่ ย่อมรู้ชัดว่าเรานอนอยู่ เราตั้งกายไว้ด้วยอาการใดๆ ย่อมรู้ถึงกายนั้น ด้วยอาการอย่างนั้นๆ ด้วยอาการนี้ที่เราเป็นผู้อยู่ด้วย สติมั่นคงเห็นกายในกาย
แต่การมีสติรู้เท่าทันอาการต่างๆของกายนั้นยัง ไม่พอ เราต้องมีสติรู้พร้อมถึงลมหายใจแต่ละครั้ง การเคลื่อนไหวแต่ละหน ความคิดทุกความคิด และความรู้สึกทุกความรู้สึก นั่นคือ มีสติรู้ทั่วพร้อมถึงทุกสิ่งที่เนื่องกับตัวเรา การนั่งสมาธิเพื่อให้ เกิดสมาธิเพื่อให้เกิดสติ เป็นสิ่งยากที่คนทำงานทุกคนจะปฏิบัติได้ แต่สติสามารถทำให้เกิดในขณะทำงานได้ โดยท่านติช นัท ฮันห์ ได้แนะนำคือ การพุ่งความสนใจทั้งหมดไปที่งาน การตื่นตัวและพร้อมเสมอที่จะเผชิญกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นอย่างสามารถและ มีไหวพริบ นี่คือความมีสติโดยแท้ ไม่มีเหตุผลใดที่การมีสติจะต่างไปจากพุ่งความสนใจทั้งหมดไปที่งานของตน ตื่นตัวอยู่เสมอ และพร้อมจะตัดสินใจอย่างดีที่สุด ในขณะของการปรึกษาหารือ การแก้ปัญหาและการจัดการกับปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น เราจะต้องมีหัวใจที่สงบและควบคุมตัวเองได้อย่างดี การงานนั้นๆ จึงจะได้รับผลเป็นที่พอใจ ถ้าเราอยู่ในภาวะที่ควบคุมตัวเองไม่ได้ ปล่อยให้ความไม่อดกลั้นและโทสะเข้าครอบงำงานขอบเราก็จะหมดความหมายไร้คุณค่า ทันที
ดังนั้น การมีสติคือการมีชีวิต ช่วยให้เราปลอดจากความขี้หลง ขี้ลืม และความคิดฟุ้งซ่านต่างๆ สติช่วยให้การมีชีวิตทุกขณะจิตเป็นไปได้ ไม่ควรปล่อยตนเองให้หลงไปในความคิดฟุ้งซ่านและสิ่งแวดล้อมรอบตัว จงเรียนรู้วิธีฝึกลมหายใจ เพื่อจะได้คอยควบคุมจิตใจและร่างกายของเรา ฝึกสติ พัฒนาสมาธิและปัญญา ในพระสูตรต่างๆ พระพุทธองค์มักจะทรงสอนให้ใช้ลมหายใจบำเพ็ญสติเสมอ มีพระสูตรที่ตรัสถึงการใช้ลมหายใจเพื่อฝึกสติเจริญสมาธิ โดยเฉพาะพระสูตรหนึ่ง คือ อานาปานสติสูตร ซึ่งท่านเคือง ต่ง ห่อย ได้แปลพระสูตรนี้ไว้ว่า อานาปานะ คือ ลมหายใจ สติ คือ ความรู้สึกตัวทั่ว จึงแปลว่า การคุ้มกันจิต ดังนั้น อานาปานสติสูตร คือ พระสูตรว่าด้วยการใช้ลมหายใจในการเจริญสติ หรือคุ้มกันรักษาจิต
การหายใจ เป็นเครื่องมือตามธรรมชาติที่มีประสิทธิภาพสูงสุด ในการป้องกันความคิดฟุ้งซ่าน ลมหายใจเป็นสะพานเชื่อมระหว่างชีวิตและจิตสำนึก ทำให้ร่างกายและความคิดเป็นเอกภาพกัน หากเกิดความฟุ้งกระจายไป ควรใช้ลมหายใจ ในการรวมจิตเข้ามาอีกครั้งหนึ่ง เราไม่ควรปล่อยตนเองให้ลุ่มหลงไปในความคิดที่ฟุ้งซ่านและสิ่งแวดล้อมรอบตัว การมีสติเพื่อให้ชีวิตเป็นหนึ่ง ของจักรวาล มีปรากฏการณ์ต่างๆมากมายดำรงอยู่ในชีวิตของเรา และตัวเราเองก็อยู่ในปรากฏการณ์ต่างๆ เรา คือ ชีวิต และชีวิตนั้นปราศจากขอบเขต บางทีเราอาจจะพูดได้ว่าเราจะมีชีวิตอยู่จริง ไม่ใช่อยู่อย่างตายซาก ก็ต่อเมื่ออยู่อย่างเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตโลก ดังนั้นร่วมทุกข์ร่วมสุขกับเพื่อนมนุษย์ร่วมโลก ความทุกข์ของคนอื่นก็คือความทุกข์ของเรา ความสุขของคนอื่นคือความสุขของเรา สามัญลักษณะของจักรวาลประกอบด้วย อนิจจังทุกขัง อนัตตา ความสำเร็จล้มเหลวของชีวิตไม่สามารถที่จะทำร้ายเราอีกต่อไป
การบำเพ็ญ สมาธิเพื่อเข้าใจในเรื่องความเป็นเหตุปัจจัยของกันและกัน ต้องปฏิบัติอยู่เสมอ และเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตการงานของเราประจำวันด้วย ทำให้เรามองเห็นคนที่ยืนอยู่ตรงหน้าเราเป็นตัวเราเอง และเห็นว่าเราเองคือคนคนนั้นด้วย เราจะต้องสามารถมองเห็นขบวนการก่อกำเนิดซึ่งกันและกัน และเป็นเหตุปัจจัยซึ่งกันและกันของสรรพสิ่งเหตุการณ์ ทั้งที่เกิดขึ้นแล้วและจะเกิดขึ้นในอนาคตและให้มองสรรพสิ่งชีวิตด้วยสาย ตาแห่งความรักและความเมตตา ซึ่งฝึกมองสรรพสิ่งมีชีวิต ด้วยสายตาของความรักและความเมตตา คือ การฝึกสมาธิที่เรียกว่า เมตตานุสติ การเจริญเมตตานุสตินั้น จะต้องทำทั้งในขณะชั่วโมงของการนั่งสมาธิ และในทุกขณะที่ทำงาน ไม่ว่าจะไปที่ไหน นั่งที่ไหน เราจะต้องดำรงชีวิตที่เป็นของเราเอง การงานเป็นเพียงส่วนหนึ่งของชีวิตเท่านั้น และงานคือชีวิตก็ต่อเมื่อเราทำงานนั้นด้วยสติเท่านั้น และชีวิตของเราเกี่ยวพันกับชีวิตบุคคลรอบๆเราด้วย หากเรารู้วิธีปกปักรักษา และระวังจิตใจและหฤทัยของเราเอง จะช่วยให้เพื่อมนุษย์รอบข้างเรา รู้จักการมีชีวิตอยู่อย่างมีสติ ภายในครอบครัวหนึ่ง หากมีคนใดคนหนึ่งในครอบครัวฝึกการเจริญสติ คนอื่นๆในครอบครัวจะสามารถเจริญสติได้ด้วนการกระทำที่มีสติของคนคนนั้น จะเตือนคนทุกคนในครอบครัวให้ระลึกถึงความมีสติได้ และคนที่ทำงานเพื่อ สังคม ซึ่งก็คือครอบครัวๆหนึ่ง เราไม่ต้องหวังว่าคนรอบตัวเราจะไม่ทำดีที่สุด ให้ห่วงตัวเองเพื่อทำตนเองให้มีคุณประโยชน์ก็เพียงพอ เพราะถ้าตัวเราทำดีที่สุด ก็จะช่วยเตือนเพื่อนๆรอบข้างให้ทำดีที่สุดด้วย
เวลา ที่เราอยู่ในสมาธินั้น ทั้งร่างกายและจิตใจของเราสามารถที่จะอยู่ในสภาวะสงบและผ่อนคลายเต็มที่ ซึ่งสภาวะแบบนี้ต่างกันโดยสิ้นเชิงจากสภาวะจิตที่อยู่ในอาการครึ่งหลับครึ่ง ตื่นขณะที่เราเคลิ้มๆ เพราะนั่นเป็นเหมือนเรานั่งอยู่ในถ้ำมืดมากกว่าการนั่งสมาธิ ซึ่งทำให้เรามีสติสมบูรณ์นั้น เราไม่เพียงแต่ได้พักผ่อนและมีความสุขเท่านั้น หากยังทำให้จิตของเราว่องไวและเบิกบาน ตื่นอยู่เสมอ การภาวนาไม่ใช่การ หนีโลก หากแต่เป็นการเผชิญกับความเป็นจริงของโลกด้วยจิตที่แจ่มใสเยือกเย็นต่างหาก ผู้บำเพ็ญสมาธิ เจริญสติทั้งหลายควรจะตื่นอยู่เสมอ เพราะถ้าหากไม่ตื่นอยู่เสมอ จิตก็จะตกอยู่ในภาวะฟุ้งซ่านและขี้หลงขี้ลืมไป เหมือนคนขับรถ ซึ่งถ้าไม่ตื่นอยู่เสมอก็ประสบอุบัติเหตุถึงชีวิตได้ง่ายๆ
ดังนั้น ควรจะตื่นเหมือนคนที่กำลังเดินอยู่บนไม้คานในที่สูง หากก้าวพลาดเพียงก้าวเดียวก็หมายถึงความตาย จึงควรจะเป็นเหมือนอัศวินในยุคศักดินาผู้เดินมือเปล่าฝ่าเข้าไปในดงดาบ เป็นเหมือนราชสีห์ที่ก้าวไปข้างหน้าช้าๆ ทีละก้าวๆ อย่างสุภาพ แต่มั่นคงองอาจ อยู่กับความไม่ประมาทชนิดนี้เท่านั้น จึงจะมีโอกาสเข้าถึงภาวะของการเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน อันสมบูรณ์

จงจำไว้ว่ามีเวลาที่สำคัญ ที่สุดเวลาเดียว คือ ปัจจุบัน ช่วงขณะปัจจุบันเท่านั้น ที่เป็นเวลาที่เรา
เป็นเจ้าของอย่างแท้จริง บุคคล ที่สำคัญที่สุดก็คือ คนที่เรากำลังติดต่ออยู่ คนที่อยู่ต่อหน้าเรา เพราะเราไม่รู้ว่าอนาคตเราจะมีโอกาสได้ติดต่อกับใครอีกหรือไม่และภารกิจที่สำคัญที่สุดก็คือ การทำให้คนที่เราอยู่กับเราขณะนั้นๆ มีความสุข เพราะนั่นเป็นภารกิจอย่างเดียวของชีวิตเรา จะทำอย่างไร จึงจะสามารถอยู่กับปัจจุบัน อยู่กับคนรอบข้างเรา ช่วยลดความทุกข์และเพิ่มความสุขแห่งชีวิตเหล่านั้น คำตอบก็คือ เราจะต้องมีสติ

เมื่อได้อ่านหนังสือเล่มนี้แล้ว เมื่อยามที่มีปัญหาทั้งเรื่องของตัวเอง ครอบครัว ที่ทำงาน เพื่อน หรือคนที่เราไม่รู้จักที่หนึ่งของโลก สิ่งที่ทำได้คือ ยิ้มน้อยๆ หลังจากเศร้าใจและผิดหวังจากคนรอบข้างหรือตัวเอง และกำลังอยู่ในระหว่างการฝึกที่จะมองทุกสิ่งทุกอย่างให้มีความเชื่อมโยงกับ ตัวเรา ได้รู้คำตอบของพระจักรพรรดิที่ถามว่า เวลาไหนเป็นเวลาที่เหมาะสมที่สุดในการทำกิจแต่ละอย่าง ( ปัจจุบัน ) ใครคือคนสำคัญที่สุดที่ควรทำงานด้วย ( คนรอบข้างเรา ) และอะไรคือสิ่งที่สำคัญที่สุดที่ควรทำตลอดเวลา ( ลดความทุกข์ เพิ่มความสุข ) ได้รู้ ต้องบอกว่าได้รู้วิธี แนวทาง การเจริญสติเท่านั้น ซึ่ง ณ ตอนนี้ ยังทำไม่ได้แต่พยายามอยู่ เพื่อตัวเอง ครอบครัว งาน และสังคม

ไม่มีความคิดเห็น: