“10 ปี งานวัจัยเพื่อท้องถิ่น คุณค่า พลังและความสุข ”
จัดโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น
เมื่อ 20-21 มีนาคม 2552 ณ อิมแพคเมืองทองธานี กรุงเทพ ฯ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น
ในการกำกับของสำนักงานนายกรัฐมนตรีได้สนับสนุนให้ชุมชนใช้งานวิจัยเพื่อท้องถิ่นเป็นเครื่องมือสร้างกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมเพื่อแก้ปัญหาตนเอง ซึ่งตลอด 10 ปีที่ผ่านมา มีโครงการวิจัยเพื่อท้องถิ่นที่ได้รับการสนับสนุนกว่า 1,400 โครงการ และเกิดนักวิจัยท้องถิ่นกว่า 10,000 คน มีดอกผลที่เป็นองค์ความรู้ และมีการเปลี่ยนแปลงมากขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งในระดับตัวคน ชุมชน และเชิงนโยบาย ทาง สกว. ได้จัดงานนี้ขื่นเพื่อบอกกล่าวให้สังคมได้รับรู้ว่า งานวิจัยเพื่อท้องถิ่นเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ชุมชนฝ่าวิกฤติสังคม และประเทศที่ทุกคนกำลังเผชิญอยู่
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น ได้มีการจัดสัมมนา 10 ปี งานวิจัยท้องถิ่น เรื่อง “ ชาวบ้านวิจัย…รากฐานใหม่ของสังคม ” คุณค่าพลังและความสุข มีวัตถุประสงค์เพื่อ นำเสนอผลงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นในการสร้างความรู้ระดับรากหญ้า และเป็นพลังในการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาในระดับชุมชนท้องถิ่นไปจนถึงระดับนโยบาย สู่สาธารณะชนในวงกว้างต่อไป
สกว. ริเริ่มสนับสนุน “งานวัจัยเพื่อท้องถิ่น” เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2541 โดยมีการจัดตั้งสำนักงานภาค ซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนเป็นชื่อ สกว.ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น ขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยมียุทธศาสตร์ที่สำคัญเน้นการมุ่งเข้าไปเพิ่มขีดความสามารถของชุมชนท้องถิ่น โดยเน้นให้ “คน” ในชุมชนท้องถิ่นใช้ประโยชน์จากงานวิจัย ด้วยการเข้าร่วมกระบวนการวิจัยทุกขั้นตอน เริ่มตั้งแต่การวิเคราะห์ชุมชนเพื่อกำหนดโจทย์/คำถามวิจัย การทบทวนทุนเดิมในพื้นที่ การออกแบบงานวิจัย และการวางแผนปฎิบัติการวิจัย การเก็บรวบรวมข้อมูลและการวิเคราะห์ข้อมูล การทดลอง ปฏิบัติจริงเพื่อสร้างรูปธรรมในการตอบโจทย์วิจัยหรือแก้ปัญหาในพื้นที่วิจัย การประเมินและสรุปบทเรียน เน้นให้เกิดกบวนเรียนรู้ระหว่างนักวิจัยชาวบ้าน คนในชุมชนท้องถิ่น นักวิชาการ ข้าราชการ นักพัฒนาและผู้ทรงคุณวุฒิที่จะได้เรียนรู้ร่วมกัน เพื่อสร้างการเรียนรู้และกลไกการจัดการปัญหา เพื่อนำไปสู่การพึ่งตนเองของชุมชนในพื้นที่การวิจัย
ในการเข้าไปเพิ่มขีดความสามารถของชุมชนท้องถิ่น โดยเน้นให้ “คน” ในชุมชนท้องถิ่นใช้ประโยชน์จากงานวิจัยซึงเป็นยุทธศาสตร์การทำงานที่ยึดมั่นมาเป็นเวลายาวนานกว่า 10 ปี จากการขับเคลื่อนงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นที่ปัจจุบันขยายงานออกไปทั่วประเทศ โดยการขับเคลื่อนงานในพื้นที่ต่างๆ นั้นจะอาศัยกลไกของศูนย์ประสานงานเพื่อการวิจัยท้องถิ่น (Node) และพี่เลี้ยงงานวิจัย ซึ่งปัจจุบันมีศูนย์ประสานงานวิจัยท้องถิ่น (Node) 38 แห่งทั่วประเทศ เกิดโครงการวิจัยเพื่อท้องถิ่นจำนวนประมาณ 1,400 โครงการ (ตุลาคม 2541- ธันวาคม 2551) และยิ่งไปกว่านี้กระบวนการวิจัยเพื่อท้องถิ่นยังส่งผลให้เกิดการพัฒนาคน ให้เกิดความรู้ พัฒนาให้เกิดวิธีการคิดอย่างเป็นระบบ และทำให้ชุมชนสามารถแก้ปัญหาและค้นหาทางออกจากปัญหาได้ด้วยตัวเอง
จากการเข้าร่วมงานสัมมนาครั้งนี้ ทางเจ้าหน้าที่พื้นที่แม่ทาได้เข้าร่วม 2 คนคือ มัทนา และยุทธศักดิ์ ซึ่งภายในงานมีกิจกรรม ทั้งการจัดงานนิทรรศการและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ งานแสดงสี่ภาค มีการแบ่งกลุ่มย่อยตามประเด็นที่ตัวเองสนใจ
สิ่งที่ได้เรียนรู้ ในการเข้าร่วมงานสัมมนาครั้งนี้ได้เกี่ยวกับ สกว. ในฐานะผู้เข้าร่วม เรา มัทนา อภัยมูล ได้รับรู้ว่าทาง สกว.นั้นสามารถใช้งานวิจัยเป็นเครื่องมือในการเคลื่อนงาน ทำให้งานวิจัยขับเคลื่อนโดยชาวบ้านเอง ทำให้ชาวบ้าน,ชุมชน สามารถแก้ไขและจัดการกับปัญหาตัวเอง โดยการมีส่วนร่วมกับองค์กร ภาคีต่างๆ ในท้องถิ่นในกระบวนการวิจัยและเกิดการสานต่อเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นอย่างยั่งยืน ทำให้เราคิดย้อนกลับมาที่พื้นที่ของเราว่า แล้วที่ผ่านมาเราก็ใช้งานวิจัยของ สกว. เช่นกันในการเคลื่อนงานของงานส่งเสริมคือเรื่องของการทดลองสูตรปุ๋ยที่เหมาะสมกับการปลูกข้าวโพดหลังนา โดยมีการจัดกิจกรรมโรงเรียนเกษตรกรขึ้นเพื่อเกษตรกรจะได้เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน แต่ที่ผ่านมามีความรู้สึกว่ากลุ่มเกษตรกรยังไม่มีความเป็นเป็นเจ้าของร่วมในงานวิจัยจริงๆ ซึ่งเมื่อเทียบกับพื้นที่อื่นๆ จากการประมวลภาพของทาง สกว.นั้น ทุกภาคีมีความรู้สึกทว่าต่างก็มีส่วนร่วม รู้สึกเป็นเจ้าของงานวิจัย ซึ่งก็ทำให้คิดว่าแล้วเราจะหาวิธีการใดมาเป็นเครื่องมือที่จะดึงกลุ่มชาวบ้านให้มีความรู้สึกที่มีความเป็นเจ้าของในปัญหาของตนเองมากกว่าที่ผ่านมา
สำหรับนายยุทธศักดิ์ ยืนน้อย เมื่อได้เข้าร่วมในงานสัมมนาครั้งนี้รู้สึกว่าเกิดกำลังใจที่จะทำงานวิจัยในชุมชนต่อ เพราะงานวิจัยสามารถช่วยให้ชุมชนสามารถแก้ปัญหาที่พวกเขาประสบได้จริงๆ และทุกภาคีต่างก็มีส่วนร่วมในการเรียนรู้ร่วมกัน
ขอยกตัวอย่างกรณีพื้นที่ ที่ได้รับความสำเร็จในการใช้งานวิจัยในการแก้ปัญหาในชุมชนได้ ดังเช่น อบต.กับงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น หลังจากที่มีการเลือกตั้งสมาชิก อบต.ครั้งแรกในปี 2548 งานวิจัยจำนวนหนึ่งจึงได้พยายามอธิบายว่า “ งานที่ อบต. ทำเป็นอย่างไร มีคุโณปการอย่างไรต่อชุมชน และมีเงื่อนไข/ข้อจำกัดในการทำงานอย่างไร? ” ต่อมาเกิดงานวิจัยและพัฒนาที่เน้นการศึกษา “เงื่อนไขที่ทำให้ อบต.เข้มแข็งของชุมชนได้จริง” อย่างไรก็ตามงานวิจัยเหล่านี้มีข้อจำกัดในแง่การตั้งโจทย์ เพื่อให้สามารถตอบได้ว่า “เป็นอย่างไร?” และวิธีการที่ใช้มักเป็นการสัมภาษณ์ การสอบถาม การสังเกตแบบไม่มีส่วนร่วม เพื่อสอบถามทัศนคติ ความเข้าใจ ปัญหา ทำให้ผลงานวิจัยสะท้อนว่า อบต. มีข้อจำกัดเรื่องวิธีคิด การบริหารจัดการ การจัดทำแผนงบประมาณ การพัฒนาศักยภาพของสมาชิก นั่นคือจุดอ่อนของงานวิจัยที่ไม่ได้หนุนให้มีการนำเอาคำตอบ หรือแนวคิดไปสู่การปฏิบัติจริง
ทั้งนี้พบว่า ในพื้นที่โครงการวิจัยที่มีองค์กรชุมชนเข้มแข็งอยู่แล้วองค์กรชุมชนก็จะเป็นตัวตั้งแล้วจึงเชื่อมต่องานกับ อบต. เช่นชุมชนบ้านหนองผึ้ง ชุมชนประตูป่า จังหวัดลำพูน ส่วนพื้นที่โครงการวิจัยที่ อบต. เข้มแข็ง อบต.จะเป็นเงื่อนไขเริ่มต้นเพื่อสนับสนุนองค์กรให้เข้มแข็ง เช่น อบต.สันทรายและแม่แฝกใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งในการทำงานทั้งสองรูปแบบนั้น ต้องอาศัยกระบวนการและความสัมพันธ์ของคนในชุมชนเป็นปัจจัยหลัก
ในระยะหลังทาง อบต.จึงได้พยายามผลักดันให้เกิดวิธีคิดใหม่ สู่การเปลี่ยนแปลงที่มีรูปธรรมมากขึ้น ทั้งในแง่วิธีคิด วิธีการแก้ปัญหา และการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งพบเงื่อนไขความสำเร็จสำคัญ คือ การที่ “คนใน” ที่หมายถึง อบต. หรือชุมชนลุกขึ้นมา “เอาธุระ” ต่างไปจากโครงการในช่วงแรกที่ “คนนอก” เข้าไปทำพบลักษณะการทำงานร่วมของ “คนใน” 2 ลักษณะ
ลักษณะแรก อบต. เป็นทีมวิจัยหลัก และร้อยชุมชนเข้ามา “ร่วมคิด ร่วมวางแผน ร่วมดำเนินการ ร่วมสรุปผล” หรือทำงานร่วมกัน นั่นคือ อบต.แกนหลักในการริเริ่มก่อการ ตระหนักถึงปัญหาและอยากทดลองใช้งานวิจัยเป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหา นำสู่การพัฒนา ทั้งนี้การดำเนินการมักเกิดขึ้นในหมู่สมาชิก อบต. ที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกล คิดนอกกรอบ อยากทำ อยากเรียนรู้ในสิ่งใหม่ หรือมีความมุ่งมั่นและพบว่าประเด็นที่ดำเนินการส่วนใหญ่ จะเป็นประเด็นที่สอดคล้องกับภารกิจของ อบต. ได้แก่การจัดการศึกษา การอนุรักษ์สืบสานวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น ตัวอย่างโครงการวิจัยดังกล่าวได้แก่
· “การศึกษาหอยขาว เพื่อหาแนวทางการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากหอยขาวอย่างยั่งยืน โดยการมีส่วนร่วมของชุมชนบ้านแหลมกลัด อ.เมือง จ.ตราด” ทำให้เด็กๆ รักและหวงแหนทรัพยากร เป็นมัคคุเทศก์น้อย เกิดการพัฒนาเส้นทางเดินป่าชายเลนเกิดกฎระเบียบในการใช้ประโยชน์จากหอยขาวและ พลักดันสู่มติระดับจังหวัด
· “การจัดการขยะมูลฝอยในชุมชนบ้านเมืองบัวอย่างมีส่วนร่วมของชุมชน ต.เมืองบัว อ.เกษตรวิสัย จ.ร้อยเอ็ด” ที่สร้างความร่วมมือระหว่างบ้าน วัด โรงเรียน ในการจัดการขยะ โดยมี อบต. เมืองบัวสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง ทำให้ชุมชนสะอาดน่าอยู่กลายเป็นแหล่งศึกษาดูงานด้านการจัดการขยะ และพลักดันสู่การจัดการระดับตำบล อำเภอและจังหวัด
· “ผักพื้นบ้านอาหารพื้นเมืองสู่กระบวนการเรียนรู้ ต.ต้นธง อ.เมือง จ.ลำพูน” สร้างสัมพันธ์แห่งความเอื้ออาทรกลับคืน สู่ชุมชน ทำให้ อบต. ปรับการทำงานที่สอดคล้องกับชุมชนมากขึ้น และโรงเรียนหลายแห่งยังนำข้อมูลที่ได้จากการสืบค้นสู่หลักสูตรท้องถิ่น
· “การพัฒนาศูนย์เด็กเล็กด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยองค์กรชุมชน ต.บ้านแหวน อ.หางดง จ.เชียงใหม่” ส่งผลให้เกิดการบริหารจัดการศูนย์เด็กเล็กอย่างมีส่วนร่วมระหว่าง อบต. กับชุมชน มีนำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาใช้ในการเลี้ยงดูเด็ก ทำให้เกิดกิจกรรมการพัฒนาเด็กอย่างบูรณาการ
อีกลักษณะหนึ่ง คือ ชุมชนเป็นทีมวิจัยหลัก และพยายามเชื่อมต่องานกับ อบต. กรณีนี้ ชุมชนผู้ได้รับผลกระทบจากปัญหาโดยตรงจะเป็นคนลุกขึ้นมาพูดคุย และแสดงพลังที่อยากจะแก้ปัญหาหรือตอบสนองความต้องการของตนเอง พร้อมทั้งร่วมคิด ร่วมวางแผน ร่วมดำเนินการ ร่วมสรุปผลด้วยตัวเอง ขณะเดียวกัน ก็ประสานให้ อบต. เข้ามารับรู้ศักยภาพของชุมชนในระหว่างการดำเนินงานวิจัย หรือเมื่อได้ผลเป็นที่ประจักษ์ หรือเมื่อโครงการสิ้นสุด ทั้งนี้เพื่อให้ อบต. ได้ร่วมสนับสนุนต่อยอดงานที่สอดรับกับบทบาทหน้าที่ของ อบต. สู่ความยั่งยืนต่อไป
โครงการวิจัยส่วนใหญ่จะเป็นไปในลักษณะข้างต้น เช่น
· อบต.ท่าโรงช้าง สนับสนุนงบประมาณในการจัดการขยะแก่กลุ่มเยาวชนโรงเรียนบ้านนาใหญ่ จากการดำเนินโครงการวิจัย “แนวทางการจัดการปัญหาขยะอย่างสร้างสรรค์ โดยกลุ่มเยาวชนต้นกล้านาใหญ่ ต.ท่าโรงช้าง อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี” อบต.ป้ายป่า บรรลุกิจกรรมฟื้นฟูป่าชายเลนไว้ในแผนจากการดำเนินโครงการวิจัย “การมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการป่าชายเลน บ้านคลองลิดี อ.ท่าแพ จ.สตูล”
· อบต.ดอนแรด สนับสนุนการเลี้ยงโค-กระบือ จากการดำเนินโครงการวิจัย “การศึกษารูปแบบการเลี้ยงโค-กระบือที่เหมาะสมกับพื้นที่ป่าทาม ต.ดอนแรด อ.รัตนบุรี จ.สุรินทร์”
· สภา อบต. หนองแหวงโสกพระ ลงมติให้ชุมชนตั้งศูนย์ป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคเอดส์ในตำบลจากการดำเนินโครงการวิจัย “แนวทางการส่งเสริมบทบาท อบต. และองค์กรชุมชนในการแก้ไขปัญหาเอดส์ ต. หนองแหวงโสกพระ อ.พล จ.ขอนแก่น”
ขอยกตัวอย่าง ฉบับเนื้อหาสมบูรณ์ของ อบต.แหลมกลัด กับการดูแลหอยขาว ผ่านกระบวนการเรียนรู้ งานวิจัยเพื่อท้องถิ่น
นอกจากแหล่งท่องเที่ยวที่ขึ้นชื่อ เช่นเกาะช้าง เกาะกูดแล้ว จังหวัดตราดยังเพียบพร้อมไปด้วยทรัพยากรทางธรรมชาติ เช่นป่าบก ป่าชายเลน และสัตว์ทะเล เช่น กุ้ง หอย ปู ปลานานาชนิด ซึ่งยังคงมีความอุดมสมบูรณ์และได้รับฉายากล่าวขานว่า เป็นเพชรเม็ดสุดท้ายที่ยังคงจรัสแสงแห่งความงามคู่ภาคตะวันออกของประเทศไทย ณ จังหวัดตราด แห่งนี้มีตำบลเล็กๆ ตำบลหนึ่งซึ่งตั้งห่างจากตัวอำเภอเมืองตราดไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ วิถีชีวิตชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบ อาชีพทำนา ทำสวนและการประมงเป็นหลัก สถานที่แห่งนี้รู้จักกันในนาม “แหลมกลัด” เมื่อครั้งอดีตตำบลแหลมกลัดมีความอุดมสมบูรณ์หาอยู่หากินง่าย ชาวบ้านอาศัยกันอยู่อย่างสงบสุข ต่างจากปัจจุบันซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงไปมาก การหาอยู่หากินเริ่มฝืดเคืองอันเนื่องมาจากมีคนเพิ่มมากขึ้นภายใต้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด และมีแนวโน้มที่จะลดลงเรื่อยๆ ด้วยตำบลแหลมกลัดเป็นที่ราบเรียบมีชายฝั่งทอดตัวลาดยาวขนานกับแนวเทือกเขาบรรทัด จึงมีวัตถุดิบทางทะเลที่ธรรมชาติได้สร้างและมอบไว้ให้อย่างอุดมสมบูรณ์ แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ทรัพยากรหลายอย่างได้หายไปและยากจะให้คืนกลับมาได้ เช่น หอยหวานซึ่งได้สูญพันธุ์ไปจากพื้นที่แห่งนี้อย่างสิ้นเชิง
สัตว์น้ำที่ยังคงอยู่และเป็นสัตว์เศรษฐกิจอยู่คู่กับตำบลแหลมกลัดมาช้านาน เป็นแหล่งใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออกนั่นคือ หอยขาว(หอยตลับ) ปี 2545 มีการรวมตัวกันของชาวบ้านและ อบต.แหลมกลัด นำโดยคุณไพวัลย์ สีอิ้น ในฐานะประธานสภาอบต. แหลมกลัด ซึ่งการประชุมจัดขึ้นที่วัดแหลมกลัด เพื่อร่วมออกความคิดเห็นในการดุแลและใช้ประโยชน์จากหอยขาว และมีมติร่วมกันคือ งดจับตัวที่มีขนาดเล็กกว่า 3.3 เซนติเมตร ในช่วงเดือนมกราคม-พฤษภาคมของทุกปี และสรุปในที่ประชุมว่าให้ อบต.ออกเป็นข้อบังคับเพื่อให้ดูแลการเก็บและการใช้ประโยชน์จากหอยขาว สภา อบต. จึงลงมติเป็นเอกฉันท์ให้นำเรื่องนี้ไปปรึกษาหารือประมงอำเภอ และประมงจังหวัดขณะนั้น เพื่อหาทางออกเป็นข้อบังคับต่อไป แต่ได้รับคำตอบว่าท้องถิ่นไม่สามารถออกข้อบังคับได้ เพราะขัดกับกฎหมายประมง 2490 ซึ่งให้อำนาจเฉพาะรัฐมนตรีเท่านั้น สมาชิก อบต. และคนในพื้นที่ต่างผิดหวังไปตามๆ กัน แต่ถ้าไม่คิดอะไรต่อก็คงทำอะไรไม่ได้ งานประเพณีหอยขาวจึงเกิดขึ้น เพื่อสร้างความเข้าใจกับคนในชุมชนให้เห็นความสำคัญของหอยขาว ภายในงานมีกิจกรรมต่างๆ มากมาย เช่น กิจกรรมการเล่นเกมส์ “แหวกหมีหาหอย” และให้แม่บ้านทุกหมู่บ้านทำอาหารด้วยหอยขาวประกวดกัน โดยงานงมหอยขาวจะจัดขึ้นในวันที่ 1 พฤษภาคมของทุกปี แต่การดำเนินงานทีผ่านมาก็ยังไม่ได้ผลเท่าที่ควรในการรักษาหอยขาวให้คงอยู่
ท่ามกลางสถานการณ์ที่ อบต.แหลมกลัด และผู้นำในชุมชนบางส่วนกำลังสับสนกับการหาแนวทางอนุรักษ์หอยขาวให้ได้ผลอยู่นั้นทางศูนย์ประสานงานเพื่อท้องถิ่นภาคตะวันออกนำโดย ผศ.ไพโรจน์ แสงจันทร์ ผู้ประสานงานได้นำแนวงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นเข้ามาพูดคุยกับคุณไพวัลย์ สีอิ้น ผลจากการพูดคุยก่อให้เกิดการจุดประกายการทำงานในรูปแบบของงานวิจัย แนวคิดนี้ถูกขยายต่อกลุ่มของ อบต.แหลมกลัด และแกนนำชาวบ้านส่วนหนึ่ง หลายคนมุ่งมั่น “ลองกันดูสักตั้ง” กิจกรรมต่างๆ อุปสรรคมากมายก็ผ่านกันมาแล้วลองทำวิจัยดุสักครั้งจะเป็นไรไป ด้วยเหตุผลดังกล่าวจึงร่วมมือร่วมใจกันพัฒนาโจทย์วิจัย และในที่สุด “โครงการวิจัยการศึกษาสถานการณ์หอยขาว เพื่อหาแนวทางการอนุรักษ์การวางแผนร่วมกันและใช้ประโยชน์จากหอยขาวอย่างยั่งยืน โดยการมีส่วนร่วมของชุมชนบ้านแหลมกลัด อำเภอเมือง จังหวัดตราด” ก็ได้รับการอนุมัติ
ทีมวิจัยประกอบด้วยคนในชุมชนที่มาจากหลากหลายบทบาทหน้าที่แต่มีเป้าหมายเดียวกัน ได้แก่ สมาชิก อบต.แหลมกลัด เจ้าหน้าที่อนามัย คุณครู ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน กรรมการกองทุนหมู่บ้าน และตัวแทนกลุ่มแม่บ้าน ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นคนที่มีความเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์และหากินบริเวณชายฝั่งมาตลอดและมีที่ปรึกษาจากในพื้นที่ เช่นกำนัน ผู้อำนวยการและอาจารย์ใหญ่โรงเรียนในพื้นที่ ปลัด อบต. และนายกอบต. แหลมกลัด การทำงานในช่วงแลกนั้นทีมวิจัยและแกนนำในชุมชน ยังไม่ค่อยจะแน่ใจกับโครงการที่ทำนัก เนื่องจากงานวิจัยเป็นงานใหม่ที่ชุมชนไม่เคยทำมาก่อน ไม่แน่ใจว่าสิ่งที่ทีมทำอยู่คืออะไร? ทำกันอย่างไร? ทำแล้วจะได้อะไร? แนวทางการวิจัยไม่ได้เป็นไปตามแผนที่วางไว้นักประกอบกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ของคนในชุมชนที่มองว่า สิ่งที่ทีมวิจัยกำลังทำอยู่นั้นเป็นไปเพื่อประโยชน์ส่วนตน บ้างก็เป็น “อบต หวงหอย” สิ่งเหล่านี้บั่นทอนจิตใจอยู่ไม่น้อย แต่หากคิดในทางกลับกัน การวิพากษ์วิจารณ์ของชาวบ้าน แสดงให้เห็นว่าชาวบ้านได้รับรู้และสนใจการทำงานของทีมวิจัยอยู่บ้าง ดังนั้นการสร้างความเข้าใจกับชุมชนให้มากขึ้นจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องเร่งทำ การปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์การทำงาน จึงเป็นไปตามสถานการณ์ มีการประชาสัมพันธ์มากขึ้น มีการประชาสัมพันธ์ทั้งรูปแบบของการพูดคุยและบอกเล่าถึงสิ่งที่กำลังทำอยู่ มีการจัดบอร์ดและทำแผ่นพับเพื่อประชาสัมพันธ์ทุกที่เมื่อมีโอกาส
ความเข้าใจและความมั่นใจของทีมงานเริ่มมีมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในช่วงของการเก็บข้อมูลจากผู้รู้และผู้สูงอายุในชุมชน เรื่องราวประวัติความเป็นมาของชุมชนในอดีต ความสัมพันธ์ของวิถีชีวิตกับหอยขาว บทเรียนและการดูแลทรัพยากรในอดีต ถูกร้อยเรียงให้เห็นภาพเป็นลำดับ ความเข้าใจเพิ่มทวีขึ้น ควบคู่ไปกับความต้องการในการหาทางอนุรักษ์หอยขาวและทรัพยากรชาติอื่นๆ ในชุมชนให้คงอยู่ ก็เพิ่มมากขึ้นตามไปด้วยเช่นกัน คำกล่าวของคนเฒ่าคนแก่ที่บอกว่า “ที่ช่วยกันทำเพื่อให้ของทะเลและหอยขาวอยู่ได้นานๆ น่ะดีแล้ว ขอให้ช่วยกันทำต่อไปเถอะ” ช่วยสร้างขวัญและกำลังใจทีมงานวิจัยยืนหยัดที่จะก้าวต่อไป
กระบวนการเก็บข้อมูล นอกจากทีมวิจัยจะลงไปเก็บข้อมูลแล้วคุณครูยังได้นำเด็กนักเรียนโรงเรียนวัดแหลมกลัดไปร่วมเรียนรู้และร่วมเก็บข้อมูลด้วยส่วนชาวบ้านที่มีอาชีพเก็บหอยก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี หลายคนบอกกับทีมงานวิจัยว่ากลัวหอยขาวจะหมดไป ปละเมื่อเก็บข้อมูลเรียบเรียงให้เป็นหมวดหมู่และคืนข้อมูลที่ได้มาก็คืนให้กับชุมชนได้รับรู้ร่วมกันตัดสินใจ โดยจัดเป็นเวทีประชาคมชาวบ้านช่วยกันกำหนดกติกาการดูแลและใช้ประโยชน์จากหอยขาว เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2547 โดยมีมติร่วมกันของคนในชุมชนดังนี้
1.ไม่เก็บหอยขาวที่มีขนาดเล็กกว่า 3.3 เซนติเมตร
2.ไม่ใช้คราดเหล็กหรือเครื่องจักรกล หรือเครื่องทุนแรงที่มีผลกระทบต่อหอยขาววัยอ่อนและสัตว์น้ำวัยอ่อนอื่น
3.ไม่ใช้พาหนะเครื่องจักร เช่น รถไถนา หรือพาหนะบกชนิดอื่นในพื้นที่ที่มีหอยขาวอาศัยอยู่
กระบวนการทำงานวิจัย โดยการเป็นทัพหน้าของ อบต.แหลมกลัด นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงต่างๆ มากมาย ซึ่งสามารถประมวลผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการวิจัยได้ดังนี้
1) ความเปลี่ยนแปลงของทีมวิจัย หลังจากได้เรียนรู้กระบวนการวิจัยเพื่อท้องถิ่นแล้ว คุณไพวัลย์ สีอิ้น หัวหน้าโครงการวิจัยและทีมผู้ร่วมวิจัยได้สะท้อนให้ฟังว่า ทำให้มีความรู้เพิ่มขึ้น มีความเข้าใจในการทำงานกันเป็นทีม ร่วมกันคิดร่วมกันแก้ปัญหา วางแนวทางในการดำเนินงานและปรับเปลี่ยนแผนงานตามปัญหาที่เกิดขึ้น มีโอกาสทำงานกับคนที่มีจำนวนมากขึ้นทั้งที่เคยรู้จักและไม่รู้จัก มีความมั่นใจในตนเองมากขึ้น สามารถเรียบเรียงงานวิจัยในส่วนที่ตัวเองรู้ถึงจะเหนื่อยและมีเวลาว่างน้อยลง แต่ก็มีความสุขและสนุก ที่สำคัญคือความภาคภูมิใจว่าครั้งหนึ่งได้มีโอกาสร่วมกับเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ ทำการศึกษาเพื่อหาแนวทางการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ในท้องถิ่นพื้นบ้านของเราเอง ไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไร ทีมวิจัยและคนในท้องถิ่นแหลมกลัด ก็ยังตั้งความหวังว่าหอยขาวจะมีอยู่คู่กับตำบลแหลมกลัดต่อไป
2) ความเปลี่ยนแปลงของสถานศึกษาและชุมชน จากการทำการวิจัยทำให้โรงเรียน นักเรียน และเยาวชน โรงเรียนวัดแหลมกลัดร่วมมือในการเก็บข้อมูลด้วยในหลายๆ ด้าน หลังจากที่รู้ว่ามีทีมงานศึกษาวิจัยหอยขาว และเรื่องราวที่เป็นมาของชุมชนแหลมกลัดด้วย นักเรียนได้มีโอกาสได้เรียนรู้นอกห้องเรียนในเรื่องของทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ ในพื้นที่ชุมชนตัวเอง ทีมวิจัย คณะครูนักเรียน และได้เรียนรู้ถึงสิ่งที่มีอยู่ในท้องถิ่นเยาวชนในหลายพื้นที่ หลายคนได้เข้ามาร่วมทำกิจกรรมร่วมเก็บข้อมูลกับทีมวิจัย บางคนได้นำข้อมูลไปใช้ในการศึกษาด้วย เช่น เรื่องของทรัพยากรธรรมชาติ มีการถ่ายทอดเรื่องราวต่างๆ ในชุมชนให้เยาวชนที่อื่นด้วย มีการเข้ามาศึกษาดุงานของคนภายนอก และทีมงานวิจัยร่วมกันต้องรับ และบอกเล่าให้คณะที่มาศึกษาดูงานในพื้นที่ได้เข้าใจ สำหรับการเปลี่ยนแปลงในชุมชนคนที่เกี่ยวข้อง ผู้ที่ประกอบอาชีพเก็บหอยขาวมาแกะแปรรูปขาย ซึ่งมีอยู่หลายครัวเรือนที่ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี หลายคนได้บอกกับทีวิจัยว่า กลัวหอยขาวจะหมดไป แล้วไม่รู้จะทำอาชีพอะไรกิน ส่วนคนในชุมชนต่างให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีกับทีมวิจัย เพราะต่างรู้เห็น และรับรู้ข้อมูลต่างๆ เท่าๆ กับทีมวิจัย
3) ได้รับความสนใจในระดับนโยบายของจังหวัดและระดับกรม
หลังจากที่โครงการศึกษาวิจัยเรื่องหอยขาวเสร็จสิ้นแล้วทางทีมวิจัยก็ได้นำผลของการวิจัยไปเผยแพร่ประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับเรื่องของหอยขาวตามสื่อต่างๆ ที่พอจะทำได้ทั้งสื่อพิมพ์ และสื่อทีวี ต่อมาทางรองผู้ว่าราชการจังหวัดตราดได้เห็นการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ จึงเกิดสนใจในประเดิมดังกล่าวและได้สั่งการให้ทางกรมประมงจังหวัดลงมาร่วมศึกษาเพิ่มเติมและทำประชาคมร่วมกับชาวบ้านเพื่อตั้งกฎระเบียบเกี่ยวกับการใช้ทรัพยากรหอยขาวแบบมีส่วนร่วม และใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ขณะนี้จังหวัดตราดได้รับลูกและนำเสนอข้อมูลไปทางกรมประมง ต่อมาเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2549 ทางกรมประมงจากส่วนกลางได้ลงมาเก็บข้อมูลแลกเปลี่ยนกับทีมงานวิจัยและคนในพื้นที่เพิ่มเติมพร้อมกับรับเรื่องไว้ และจะนำเสนอข้อมูลต่อคณะกรรมการของกรมอีกครั้ง ตัวแทนจากกรมประมงส่วนกลาง ยังได้แสดงความชื่นชมทางทีมวิจัยและ อบต. แหลมกลัดว่า หากฎระเบียบได้ ก็จะเป็นท้อองถิ่นแห่งแรกในประเทศไทยที่กฎระเบียบมาจากความต้องการของท้องถิ่นเอง ในเรื่องของการจัดการอนุรักษ์ทรัพยากรและการจัดการหอยยาว
เมื่อก่อนนั้นทางทาง อบต. แหลมกลัดและชุมชนได้เสนอออกกฎกติกาข้อบังคับการใช้ทรัพยากรหอยขาว แต่ไม่ได้รับการตอบสนองจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากมีข้ออ้างว่าขัดกับกฎหมายประมงบางมาตราและทาง อบต. และชุมชนไม่สามารถออกข้อบังคับให้มีผลบังคับใช้ได้เพราะไม่มีอำนาจตามกฎหมายบัญญัติไว้ แต่หลังจากที่ทีมงานวิจัยมีข้อมูลที่เป็นเอกสารอ้างอิง จึงได้รับความสนใจและมั่นใจจากหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องและผู้ที่ต้องศึกษาดูงานมากขึ้น จึงทำให้หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเกิดการยอมรับข้อเสนอจากชุมชนเอาไว้พิจารณามากขึ้น
นอกจากนี้ ทีมวิจัยยังได้ขยายผลการวิจัยเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของแผนด้านทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมของ อบต.แต่ยังเป็นแผนที่อยู่ในภาพรวม แต่ในปีถัดไปได้มีการจัดสรรงบประมาณสนับสนุนให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น รวมทั้งขยายผลให้เกิดกลุ่มอื่นด้วย เช่น กลุ่มอนุรักษ์ปูม้า โดยมีกรมประมงจังหวัดเข้ามาช่วยหนุนเสริมทางด้านวิชาการ มีกิจกรรมการวางแนวปะการัง ซึ่ง อบต. และทีมวิจัยได้เข้าไปมีส่วนร่วม โดยใช้กำลังกายและใจเข้าไปร่วมเป็นแกนสำคัญในการทำงาน และกำลังก่อตัวขึ้นเป็นรูปเป็นร่างกับชาวบ้านกลุ่มต่างๆ ในเรื่องการจัดการและการใช้ประโยชน์จากทรัพยากร มีการใช้ผลของการวิจัยส่วนหนึ่งไปเป็นหลักสูตรท้องถิ่นให้กับโรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่
ประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากกระบวนการวิจัยทำให้ทิศทางการอนุรักษ์หอยขาวของชุมชนแหลมกลัดเริ่มมีความหวังมากขึ้น แม้ว่าพลังการมีส่วนร่วมของชุมชนอาจต้องการแรงหนุน และการจุดประกายให้เกิดความตระหนักและหวงแหน “หอยขาว” ซึ่งเป็นทรัพยากรสาธารณะของชุมชนให้มากยิ่งขึ้นก็ตาม หากแต่ภาพที่เกิดขึ้นในชุมชน ณ วันนี้นับเป็นกำลังใจอย่างใหญ่หลวงสำหรับคนที่จะขับเคลื่อนประเด็นนี้ให้เป็นรูปธรรมต่อไป โดยเฉพาะหน่วยงานในพื้นที่อย่าง อบต. แหลมกลัด ที่เกาะติดประเด็นนี้มาตั้งแต่ต้น แม้จะถูกค่อนขอดในระยะแรกว่าเป็น “อบต หวงหอย” แต่กระบวนการวิจัยก็ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า สิ่งที่ อบต.ทำเป็นการทำเพื่อชุมชน มิใช่ประโยชน์ส่วนตน
การใช้งานวิจัยเพื่อท้องถิ่นเป็นเครื่องมือในการทำงานของ อบต. แหลมกลัด ทำให้ลักษณะงานของ อบต.แหลมกลัด เปลี่ยนไปจากเดิมที่มักจะทำงานพัฒนาเป้นหลัก มาเป็นการทำงานที่ยึดหลักการเรียนรู้ร่วมกัน ของคนส่วนใหญ่ในการค้นหาข้อมูล วิเคราะห์ และหาทางออกจากปัญหา ที่สำคัญงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นได้เป็นตัวขับเคลื่อนและจุดประกายในเรื่องของการหาแนวทางอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล ให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น เป็นการสร้างกระบวนการเรียนรู้ ลองผิดลองถูก ได้รู้ถึงต้นตอของปัญหาที่แท้จริง แล้วนำมาเชื่อมต่อกับงานพัฒนา และนำไปสู่การปฏิบัติจริงๆ ซึ่งจากบทเรียนการวิจัยที่ผ่านมา อบต.แหลมกลัดเชื่อมั่นว่าการนำเอากระบวนการวิจัยเพื่อท้องถิ่นมาใช้แก้ปัญหาในท้องถิ่นนั้น จะเป็นวิธีที่นำไปสู่การแก้ปัญหาที่ “เกาถูกที่คัน” และสร้างให้เกิดการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนอย่างแท้จริง ดังเช่นถ้อยคำหนึ่งของ คุณไพวัลย์ สีอิ้น ที่กล่าวไว้ว่า
“งานวิจัยเพื่อท้องถิ่นมันก็เปรียบเสมือนโซ่ ซึ่งตอนแรกมันก็มีแค่ห่วงปลายเพียงห่วงเดียวเป็นจุดเริ่มต้น ซึ่งปลายของห่วงโซ่จะมีช่องว่างของมัน เพื่อที่จะให้ห่วงอันต่อไปมาคล้องต่ออยู่ตลอดเวลา มันคล้ายๆ กับการกระจายงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นไปรอบๆ ด้าน เป็นเส้นโว่ที่ทอดยาวออกไปอย่างไม่มีกำหนด โดยห่วงที่เชื่อมต่อ อาจจะมาจากหลายภาคส่วน เช่น เด็กบ้าง หน่วยงานบ้าง แต่เราก็ไม่รู้ว่าห่วงโซ่ไหนที่จะมาต่อจากเรา คือ พูดได้ว่าวิจัยเพื่อท้องถิ่นทำรู้จุดเริ่ม แต่ไม่รู้จุดจบ ซึ่งตั้งแต่การเริ่มทำโครงการวิจัยและได้มีการทำงานมามันก็จะคล้องรัดเอากลุ่มต่างๆ นี้เข้ามาอยู่ตลอด”
ผู้เขียน Mathana (แม่ทา)
1 ความคิดเห็น:
ตัวหนังสือสีน้ำเงินบนพื้นสีฟ้าเทา นี่มันทดสอบความเพียรในการอ่านดีนะไอ้ปุ้ย
แสดงความคิดเห็น