วันพฤหัสบดีที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

Review หนังสือเรื่อง เปิดโลกความสุข GNH

Review หนังสือเรื่อง เปิดโลกความสุข GNH
Gross National Happiness = ความสุขมวลรวมประชาชาติ
ผู้เขียนหนังสือ นภาภรณ์ พิพัฒน์
โดย มัทนา อภัยมูล


เศรษฐศาสตร์ว่าด้วยความสุขที่ผ่านมา “ความสุข” ในนิยามของนักเศรษฐศาสตร์จะจำกัดวงอยู่แค่ว่า… “ ความพึงพอใจของมนุษย์แต่ละคนเกิดจากการที่มนุษย์ผู้นั้นได้บริโภคสินค้าต่างๆ ตามที่ตนเองต้องการ” และ ยิ่งมนุษย์ผู้นั้นได้บริโภคสินค้าแต่ละชนิดมากขึ้น มนุษย์ผู้นั้นก็จะยิ่งมีความพึงพอใจมากขึ้นตามลำดับ”
ข้อสังเกตดังกล่าวมาจากบทความเรื่อง เศรษฐศาสตร์แห่งความสุข คำนิยามนี้ส่งผลให้ “เศรษฐศาสตร์ กระแสหลัก” ได้สร้าง “รหัส” ของการสร้างความสุขในสังคมสมัยใหม่ หรือสังคมทุนนิยมไว้ 5 ประเด็น รหัสความสุขในระบบเศรษฐศาสตร์ กระแสหลักที่ต้องถอดประเด็นคือ 1.การบริโภคเป็นหนทางเดียวในการมีความสุข 2.มนุษย์จะคำนึงถึงประโยชน์ของตนเองเท่านั้น 3.มนุษย์จะต้องเร่งการบริโภคของตนเองเพื่อให้มีความสุข 4.สังคมจะดีขึ้นจากการเร่งบริโภคของทุกๆ คน 5.มนุษย์จะเน้นความสุขปัจจุบันมากกว่าจะคำนึงถึงอดีตและอนาคต แม้ว่าแนวคิดนี้จะสอดคล้องกับแนวคิดในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งเน้นหนักไปที่ การพัฒนาประเทศไปสู่ความทันสมัย เพราะทฤษฎีการทำให้ทันสมัย เชื่อว่าการทำให้เป้าหมายที่สำคัญที่สุดของประเทศกำลังพัฒนา คือการพัฒนาไปสู่สังคมที่มีการบริโภคอย่างเต็มที่ เช่นเดียวกับสังคมอเมริกัน ดังนั้นความเชื่อที่ว่า “การบริโภคคือหนทางเดียวที่จะสร้างความสุขให้กับมนุษย์” จึงจะขยายตัวไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนา รวมถึงประเทศไทยของเราด้วย
แต่ที่น่าสนใจคือ ระบบเศรษฐกิจของพุทธเศรษฐศาสตร์เป็นระบบ “ปัญญานิยม” ซึ่งเป็นเป้าหมายร่วมกันของสังคมมนุษย์โลกที่จะอยู่รอดอย่างมีความสุขร่วมกัน อย่างยั่งยืน (Sustainable Development with Happiness) ซึ่งต่างจากการผลิตแบบทุนนิยมที่มุ่งเพียงเน้นตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคอย่างเดียว”
เศรษฐศาสตร์แนวพุทธส่งเสริมให้คนบริโภคด้วยปัญญา ตรงข้ามกับการบริโภคในยุคสมัยนี้ ที่ถูกขับเคลื่อนด้วยการโฆษณาและกลยุทธ์ทางการตลาด ขณะที่ลัทธิบริโภคนิยม ก่อให้เกิดการบริโภคอย่างไร้ขอบเขต ทำให้คนบูชาเงินและวัตถุ นำมาสู่การแย่งชิงทรัพยากรและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจมาก จนละเลยจรรยาบรรณและศีลธรรม
อาจารย์อภิชัยได้สรุปทฤษฎีการผลิตของพุทธเศรษฐศาสตร์ไว้ 3 ประเด็นสำคัญ
1.ความสัมพันธ์ของการผลิตให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงตามธรรมชาติของสิ่งเหล่านั้นให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยพิจารณาทั้งจากปัจจัยการนำเข้า กระบวนการผลิต และปัจจัยที่ได้ออกมา
2.เน้นให้ปัญญาเป็นปัจจัยการผลิตหลักหรือเป็นวิถีการผลิต เป็นระบบที่เรียกว่าปัญญานิยมแทนทุนนิยม
3.เน้นจุดยืนเพื่อสร้างความสุขให้มากที่สุด โดยการเบียดเบียนตนเองและผู้อื่นให้น้อยที่สุด
กล่าวอีกนัยหนึ่ง เศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency Economy) ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยแก่นแท้คือ เศรษฐศาสตร์แนวพุทธนั่นเอง

ในหนังสือเล่มนี้ยังมีหน่วยความคิดของข้อมูลที่เป็นตัวอย่างในเรื่องของการพัฒนาประเทศโดยให้ความสุขมวลรวมของประชาชนสำคัญกว่าผลผลิตมวลรวมประชาชาติ อย่างเช่น ภูฏาน ที่ทำให้ประเทศที่พัฒนาแล้วทั่วโลกกลับมามองประเทศเล็กๆ นี้มากขึ้น อย่างประเทศภูฏาน

ภูฏาน “ต้นตำรับ” ดัชนีความสุข
“ความสุขมวลรวมของประชาชนสำคัญกว่าผลผลิตมวลรวมประชาชาติ” หรือ Gross National Happiness is More Important Than Gross National Product จากแนวคิดใหม่ที่พระราชาธิบดีจิกเม ซิงเย วังชุก ทรงริเริ่มไว้เมื่อคราวเสด็จขึ้นครองราชย์ในปี 2515 “ความสุขมวลรวมประชาชาติ” ได้กลายเป็นองค์ประกอบสำคัญของโมเดลการพัฒนาประเทศในนิยามใหม่ “ความก้าวหน้าแบบองค์รวม” ภูฏานยังดำเนินนโยบายอย่างระมัดระวังในการเปิดประเทศต้อนรับโลกาภิวัตน์ ทั้งในแง่การค้า การลงทุน การท่องเที่ยวและวัฒนธรรม แม้ประเทศจะมีหลายได้หลักจากการท่องเที่ยว แต่ภูฏานมิได้พยายามแปรประแทศเป็นทุน มุ่งเน้นการขายวัฒนธรรมหรือทำลายสิ่งแวดล้อมแลกเงินตราต่างประเทศอย่างไม่ลืมหูลืมตาและสิ้นไร้ศักดิ์ศรี ดังเช่นประเทศกำลังพัฒนาจำนวนมาก หากภูฏานพยายามหาจุดสมดุลระหว่างรายได้จากการท่องเที่ยวและการรักษาสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมดั้งเดิมของตน
ภูฏานเพิ่งเปิดประเทศเมื่อทศวรรษ 1970 และเป็นที่ทราบกันว่าการขอวีซ่าเข้าประเทศเป็นรื่องยากลำบาก เพราะภูฏานมีนโยบายจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวแต่ละปี นอกจากนั้น นักท่องเที่ยวแต่ละคนยังต้องเสียภาษีท่องเที่ยววันละ 200 เหรียญสหรัฐ ทั้งนี้เพื่อจำกัดไม่ให้นักท่องเที่ยวเข้าประเทศมากเกินไป จนส่งผลทำลายสภาพแวดล้อม
จากแนวพระราชดำริ สู่ความสุขมวลรวม นับตั้งแต่ปี 2517 มีอะไรเปลี่ยนแปลงในประเทศภูฏานหรือไม่ คำตอบคือ มีแน่นอน เพราะอย่างน้อยที่สุดแนวคิดใหม่ “จีเอ็นเอช” ได้ทำให้ภูฏานมีระบบเศรษฐกิจโมเดลเฉพาะตัวที่มุ่งรักษาวัฒนธรรมและค่านิยมทางศาสนาไว้ได้ ท่ามกลางกระแสโลกาภิวัตน์อันเชี่ยวกราก
ดังผลลัพธ์ในเชิงรูปธรรมแบบพริกฝ่ามือคงยากจะเห็นได้ในเวลาเพียงชั่วข้ามคืน แต่อย่างน้อยที่สุดกรอบของ “ความสุขมวลรวม” ได้นำมาซึ่งการพัฒนาในลักษณะของการเอื้ออาทรในประเทศ เช่น การสร้างโรงเรียนรัฐบาลโดยให้มีการโยกย้ายหมุนเวียนครูระหว่างชุมชนเมืองและชนบท มีการจัดหายาแผนพื้นบ้านและยาตะวันตก กำหนดให้ต้องสงวนรักษาพื้นที่ป่า 60% ของที่ดินทั้งประเทศ
แม้ปัจจุบันรายได้ต่อหัวของคนภุฏานยังจัดอยู่ในกลุ่มต่ำสุดของโลก ประมาณ 1,400 ดอลลาร์ในปี 2547 เพราะกว่า 90% ยังประกอบอาชีพเกษตรกรรมแต่ภุฏานก็มีตัวชี้อื่นๆ ที่เป็นด้านสดใสของประเทศ เช่นอัตราการรู้หนังสือเพิ่มขึ้นจาก 23% เป็น 54% และประชาชนสามารถเข้าถึงน้ำสะอาดเพื่อการบริโภคได้มากถึง 75% จาก 45% มีอายุยืนยาวขึ้นจากเฉลี่ย 47 ปี เป็น 66 ปี
เมื่อเรามาเปรียบเทียบเศรษฐกิจพอเพียงของไทยกับหลักคิดของภูฏานว่าจะไปด้วยกันได้ไหมนั้น อาจารย์อมรตอบได้เลยทันทีโดยไม่ต้องคิด ว่าเป็นไปได้หมายความว่าไม่ต้องรวยก็มีความสุข
วิสัยทัศน์ประเทศไทย ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 10 (ปี 2550-2554) ซึ่งมีเป้าหมายสุดท้ายอยู่ที่การสร้าง “สังคมอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน” ภายใต้แนวปฏิบัติของ “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง)
จากการอ่านหนังสือเล่มนี้ จากดัชนีวัดความสุขในสไตล์ภูฏานปัจจุบันเหล่านี้ทั้งหมดล้วนเป็นหน่วยความคิดของข้อมูลความสุขจากแหล่งต่างๆ เพื่อเราจะได้ถามและตอบตัวเองว่า ความสุขของเราคืออะไรในหน่วยความคิดนำเหล่านี้ ความสุขของเราเองคืออะไรเป็นคำถามที่ดูเหมือนจะตอบง่าย แต่ก็ไม่ง่ายเลยนะ เพราะความสุขของแต่ละคนก็แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับความพอใจของแต่ละคนว่าเอาอะไรมาเป็นตัวชี้วัดว่านั่นคือคำตอบของคำว่า “ความสุข” ของเรา
สำหรับเรา เมื่อได้อ่านข้อมูลความสุขจากหนังสือเล่มนี้แล้วทำให้รู้ว่าเราโชคดีที่มีในหลวงที่มีแนวคิดที่เยี่ยมยอดในเรื่อง“ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ที่ทำให้ทางรัฐบาลนำเข้าไปเป็นแผนการการพัฒนาของประเทศของไทย ประเทศไทยเราถ้าดำเนินชวิตตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงทุกคนก็ไม่มีหนี้สินพ้นตัว ทุกคนจะไม่ตกงาน ทุกคนจะมีความสุข แต่ทุกวันนี้คนในสังคมต่างวิ่งตามกระแสนิยมจนลืมมองตัวเอง บางครั้งจนลืมมองสังคมรอบข้าง มีความเห็นแก่ตัวกันมากขึ้น จนไม่ยอมแบ่งปันสิ่งดีดี ให้กับคนอื่นๆ รอบข้าง
อ่านหนังสือเล่มนี้จบทำให้เรามองย้อนดูตัวเอง เราโชคดีที่มีพ่อแม่ที่เข้าใจ มีบ้าน มีเพื่อน มีสังคมที่ดี ได้เป็นเจ้าความคิด ได้เป็นเจ้าที่ดิน ได้เป็นเจ้าอากาศ และที่สำคัญได้เป็นเจ้าอาหารทุกวันนี้ก็พอเพียงและมีความสุขแล้ว กับการได้ช่วยสังคม กับการได้อยู่กับต้นไม้ทุกต้นที่เติบโตด้วยมือของเรา หนังสือเล่มนี้ทำให้มีความมั่นใจมากขึ้นว่าเราเดินมาถูกทางแล้วกับเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ทำให้อยากไปสัมผัสการอยู่อย่างพอเพียงที่ประเทศภูฏานที่ว่าเขาเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ เขาถือว่าธรรมชาติคือเขา เขาคือธรรมชาติ

ผู้พิมพ์ : มัทนา อภัยมูล (แม่ทา เชียงใหม่)

ไม่มีความคิดเห็น: