วันพุธที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

เส้นทางเกษตรกรรมยั่งยืน

จำนวน 307 หน้า
เขียนโดย เดชา ศิริภัทร มูลนิธิข้าวขวัญ
พฤษภาคม 2551

ผกามาศ ทรงโยธิน
เลิงนกทา จ.ยโสธร

และ อำนาจ หวานล้ำ
แม่ทา จ.เชียงใหม่

เส้นทางเกษตรกรรมยั่งยืน เป็นหนังสือที่รวบรวมบทความที่เกี่ยวข้องกับเกษตรกรรมของ คุณเดชา ศิริภัทร ที่เคยตีพิมพ์ในนิตยสารหลายฉบับ ในระหว่างปี 2526-2542 เป็นบทความที่เขียนในลักษณะของการแสดงความคิดเห็น มุมมองและข้อเสนอแนะต่างๆ ซึ่งบรรณาธิการของหนังสือเล่มนี้ได้มีการจัดเนื้อหาเป็นกลุ่มๆเพื่อให้ผู้อ่านได้เข้าใจง่าย คือ วิพากษ์เกษตรกรรม, ทิศทางเกษตรกรรม, เกษตรกรรมยั่งยืนภาคปฏิบัติ, พันธุกรรมกับเกษตรกรรมยั่งยืน , มหกรรมประชาชน, เรียนรู้จากชุมชน, เรียนรู้จากเพื่อนบ้าน, ชีวิตและความใฝ่ฝัน

ประเทศไทยเป็นประเทศที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นส่วนใหญ่ และกว่า 70% ของเกษตรกร ชาวนานับเป็นกลุ่มที่มีจำนวนมากที่สุด และมีความสำคัญต่อประเทศทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมและการเมือง มาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ในอดีตชาวนามีความผูกพันกับพิธีกรรม ประเพณีต่างๆและธรรมชาติมาก ความสัมพันธ์ดังกล่าวเป็นไปอย่างถูกต้องและสมดุล ชาวนาในอดีตให้ความสำคัญกับการผลิตเพื่อการบริโภคเท่านั้น แต่ต่อมาทัศนะของคนเปลี่ยนไป เป้าหมายของเกษตรกรรมที่เคยผลิตอาหารเพียงเพื่อตอบสนองความต้องการของมนุษย์ กลายเป็นเพียงกิจกรรมอย่างหนึ่งของการผลิตสินค้า เป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจ เพื่อจุดมุ่งหมายสูงสุดคือกำไร และผลประโยชน์ต่างๆ ก่อให้เกิดการทำลายธรรมชาติ, ระบบนิเวศต่างๆ ซึ่งเป็นยุคของการที่เรียกว่า ปฏิวัติเขียว และหลังจากยุคดังกล่าว ทำให้ระบบนิเวศต่างๆเกิดการเสื่อมโทรมและเป็นพิษ ก่อให้เกิดการขูดรีดผลประโยชน์และผลกำไรออกจากธรรมชาติให้มากที่สุดและเร็วที่สุด ก่อให้เกิดการมองธรรมชาติออกเป็น 2 ส่วนคือส่วนที่ต้องการและส่วนที่ไม่ต้องการ จากการมองดังกล่าวก่อให้เกิดหลักการที่สำคัญคือ การทำลาย จากระบบเกษตรกรรมดังกล่าวพบว่าก่อให้เกิดปัญหาต่างๆไม่ว่าจะเป็นในด้านสังคม เศรษฐกิจ, ระบบนิเวศ, คุณภาพของผลผลิต ต่อมาเกิดกลุ่มบุคคลหลายๆกลุ่มพยายามหาทางออกของปัญหาที่เกิดขึ้นจากระบบเกษตรกรรมแผนใหม่ โดยพัฒนาระบบเกษตรกรรมขึ้นหลายระบบซึ่งระบบเกษตรกรรมเหล่านั้นถึงแม้จะมีวิธีการต่างกันแต่จุดมุ่งหมายหลักเดียวกันคือรักษาระบบนิเวศให้กลับฟื้นคืนสู่ความสมดุลและสมบูรณ์ตามธรรมชาติ ซึ่งตัวอย่างระบบเกษตรกรรมที่เกิดขึ้นในแนวทางนี้คือ ระบบเกษตรอินทรีย์, เกษตรกรรมธรรมชาติ, เกษตรผสมผสาน เป็นต้น

ระบบเกษตรอินทรีย์ มีหลักการพื้นฐานคือ การปรับปรุงดินให้มีความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติด้วยอินทรียวัตถุและสิ่งมีชีวิตในดิน เพื่อเป็นพื้นฐานรองรับสิ่งมีชีวิตชั้นสูงต่อไป นอกจากนี้หลีกเลี่ยงการใช้ปุ๋ยเคมี สารเคมีสังเคราะห์ทุกชนิด นิยมใช้ชีววิถีและสารธรรมชาติ

ระบบเกษตรกรรมธรรมชาติ เป็นระบบเกษตรกรรมที่ อาศัยความสมดุลของระบบนิเวศและดำเนินกิจกรรมต่างๆให้สอดคล้องกับระบบนิเวศในท้องถิ่นนั้นๆ ซึ่งมีหลักการใหญ่ๆ 4 ข้อคือ
1. ไม่ไถพรวนพื้นดิน
2. ไม่ใส่ปุ๋ยทุกชนิด
3. ไม่กำจัดวัชพืช
4. ไม่กำจัดโรคและแมลงศัตรูพืช

ระบบเกษตรผสมผสาน เป็นการทำกิจกรรมเกษตรพร้อมกันตั้งแต่ 2 กิจกรรมขึ้นไป โดยแต่ละกิจกรรมเอื้อประโยชน์หรือมีผลเกื้อกูลซึ่งกันและกัน เช่นการเลี้ยงปลาในนาข้าว จุดเด่นของเกษตรแบบนี้อยู่ที่การใช้ทรัพยากรในท้องถิ่นอย่างมีประสิทธิภาพ เอื้อต่อการผลิตเพื่อการบริโภคในครัวเรือน ลดต้นทุนการผลิต ลดความเสี่ยงในเรื่องการตลาด มีความเสถียรภาพสูง

สำหรับประเทศไทยนั้นได้เกิดระบบเกษตรกรรมทางเลือกขึ้น ได้มีการจัดตั้งเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกขึ้น ซึ่งเป็นการรวมตัวขององค์กรพัฒนาเอกชนและองค์กรชาวบ้าน ทำงานด้านพัฒนาและส่งเสริมฯ ระบบนี้ประเทศไทยเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ระบบเกษตรกรรมยั่งยืน ซึ่งหมายถึงระบบเกษตรกรรม 4 ระบบคือ
1. ระบบเกษตรกรรมผสมผสาน
2. ระบบเกษตรกรรมอินทรีย์
3. ระบบเกษตรกรรมธรรมชาติ
4. ระบบวนเกษตร

กลุ่มเครือข่ายกิจกรรมทางเลือกได้มีการ จัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อกระจายความรู้ , รวบรวม และสังเคราะห์ความรู้เกี่ยวกับเกษตรกรรมทางเลือกในประเทศ ,เพื่อเชื่อมโยงผู้ผลิตและผู้บริโภคเข้าด้วยกัน , เพื่อเสนอแนวทางวนเกษตรในการฟื้นฟูป่า และเพื่อผลักดันให้เกิดนโยบายสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐ เช่นการจัดงานสัปดาห์เกษตรทางเลือกฯ, การเข้าร่วมสมัชชาคนจน และยังคงมีการพัฒนาตนเองมาจวบจนปัจจุบัน

สิ่งสำคัญของการทำเกษตรอย่างหนึ่งที่ได้มีการกล่าวถึงในหนังสือเล่มนี้คือ พืชพันธุ์พื้นบ้าน ซึ่งถือเป็นขุมทรัพย์ที่สำคัญ มีคุณค่ามากมายหลายด้านโดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ ซึ่งจากการสำรวจของนักวิยาศาสตร์พบว่า ศูนย์กลาง พืชพันธุ์พื้นบ้านเกือบทั้งหมดอยู่ในประเทศที่กำลังพัฒนา

พืชพันธุ์พื้นบ้าน หรืออาจเรียกว่าทรัพยากรพันธุกรรม เป็นพันธุ์พืชและสัตว์ ที่มีการคัดเลือก โดยธรรมชาติ ทั้งจากของธรรมชาติเองและจากตัวมนุษย์จะมีความเฉพาะที่เป็นเอกลักษณ์ ของแต่ละพื้นที่แต่ละท้องถิ่น เช่น ทุเรียนพันธุ์ดีต้องบางยี่ขัน, เงาะ ต้องบางยี่ขัน, มะม่วงต้องที่ ต.บางช้าง, พริกที่มีกลิ่นหอมและเผ็ด ต้องเป็นพริกกะเหรี่ยง ซึ่งควรเป็นอย่างยิ่งที่ควรมีการอนุรักษ์ รวบรวมและส่งเสริมให้มีการปลูกและเก็บรักษาพืชพันธุ์พื้นบ้านนั้นไว้ ก่อนที่จะมีการสูญหาย ดังบทเรียนจากประเทศต่างๆ เช่น ฟิลิปปินส์, เกาะชวา อินโดนีเซีย ซึ่งทรัพยากรพันธุกรรมนี้มีความสำคัญมากคือ เป็นแหล่งของการเกิดปัจจัย 4 , เป็นแหล่งผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ และเป็นแหล่งสำคัญในการพัฒนาประเทศในด้านต่างๆไม่เว้นแม้แต่ด้านนิเวศวิทยา ซึ่งปัญหาของการสูญหายทรัพยากรพันธุกรรมดังกล่าว เกิดจากระบบเกษตรแผนใหม่ และการไม่เห็นคุณค่าของทรัพยากรพันธุกรรมที่มีอยู่ จึงก่อให้เกิดการเก็บรวบรวมทรัพยากรพันธุกรรมและภูมิปัญญาพื้นบ้านขึ้น เช่นการจัดตั้งธนาคารเมล็ดพันธุ์ เกษตรกรในปัจจุบันนี้เปรียบเสมือนคนที่มีแต่ความทุกข์มีแต่คนคอยเอาเปรียบ ดังนั้นจึงควรมีการหันหน้าเข้าหากัน พูดคุยถ่ายทอดสิ่งต่างๆถึงกัน ไม่ว่าจะเป็นภูมิปัญญา, ทรัพยากรพืชพันธุ์ หรืออื่นๆ เพื่อการต่อสู้กับวิกฤติและกระแสต่างๆของสังคมที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนี้

ตอนท้ายของหนังสือเล่มนี้ ได้มีการเขียนในเรื่องชีวิตและความใฝ่ฝัน มีการมองคนรุ่นเก่าเปรียบเทียบกับคนรุ่นใหม่ และมีการฝากแนวคิดเล็กๆน้อยว่า ความใฝ่ฝันของคนเรานั้นมีมาหลายชั่วอายุคนและยังคงงดงามเช่นที่เคยมี แม้บางครั้งอาจถูกมอมเมา บังคับ ขู่เข็ญ แต่ก็ไม่อาจทำลายความใฝ่ฝันอันงดงามได้ มีคนกลุ่มน้อยบางกลุ่มที่รู้จักกันในนามของ ผู้แสวงหา ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากวิกฤติศรัทธา กลุ่มคนเหล่านี้เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีความหวังและความฝัน แต่จะมีสักกี่คนที่กล้าหาญพอที่จะดำเนินชีวิตไปตามความใฝ่ฝันของตนเอง เรียกว่าทวนกระแสสังคม เป็นคนบ้าแห่งยุคสมัย ไม่ปล่อยตัวล่องลอยไปตามกระแส ขาดเขลาและอ่อนแอจนห่างไกลจากความใฝ่ฝันที่แท้จริงของตน ผู้ที่จะดำเนินชีวิตไปตามความใฝ่ฝันของตนได้แท้จริงนั้นต้องเป็นผู้ที่รู้เท่าทันสังคม, เข้มแข็งและกล้าหาญพอ ไม่ย่อท้อและลังเลต่อสิ่งใดๆ

อำนาจ : สิ่งที่ได้จากหนังสือเล่มนี้คือ ประวัติความเป็นมาของเกษตรกรรมของไทยในอดีตที่ผ่านมาและความย่ำแย่ของระบบการเกษตรกรรมในอดีต เพื่อนำมาปรับใช้ในชีวิตไปข้างหน้าอย่างเหมาะสม”

ไม่มีความคิดเห็น: