วันอังคารที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2552

“Go Green!” มีอะไรมากกว่าที่คุณคิด




“Go Green” ด้วยการให้อาหารกับโลกผ่านพฤติกรรมการบริโภคอาหารของมนุษย์จากอาหารที่ถูกผลิตโดยการใช้พลังงานต่ำ ปลดปล่อยปริมาณคาร์บอนน้อยแถมยังดีต่อสุขภาพ อย่างนี้คงเรียกได้ว่า ยิงปืนนัดเดียวได้นกมากกว่า 2 ตัว






โดยทั่วไปเรามักจะได้ยินว่าการ “Go Green” นั้น จะเน้นการซื้อ การใช้ การอุปโภคสินค้าที่อยู่ในกลุ่มไฮบริดจ์ เช่น รถยนต์ไฮบริดจ์ที่ใช้พลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลต่ำ เป็นต้น แต่สินค้าไฮบริดจ์ส่วนใหญ่มักมีราคาแพงซึ่งผู้บริโภคไม่สามารถที่จะเข้าถึงไฮบริดจ์ได้ทุกคน แต่การ “Go Green” แบบง่ายที่สุด ที่ทุกคนทำได้ คือ การบริโภคสีเขียว ได้แก่ การบริโภคอาหารจำพวก พืชผัก เนื้อสัตว์ขนาดเล็ก เช่น เนื้อไก่ ปลาและผลไม้ เป็นต้น เพราะมีไฟเบอร์สูง ให้ไขมันต่ำ ดีต่อสุขภาพ และควรบริโภคอาหารที่มีอยู่ในท้องถิ่น เป็นอาหารที่ผลิตในระบบอินทรีย์ ไม่มีการใช้ปุ๋ยเคมีหรือยาฆ่าแมลง ลดการนำเข้าจากภายนอกหรือลดการบริโภคอาหารที่ต้องมีการขนส่งโดยใช้ระยะทางไกลๆ ลง เพื่อลดการใช้พลังงาน รวมไปถึงลดการบริโภคเนื้อสัตว์จำพวกวัว เป็นต้น เพราะอาหารที่ได้มาในลักษณะดังกล่าวมีการใช้พลังงานสูงเมื่อคำนวณตั้งแต่กระบวนการผลิตในฟาร์มสู่จานอาหารของผู้บริโภค


Bryan Walsh ได้เขียนบทความลงในนิตยสารไทม์ ฉบับเดือนมีนาคม ปี 2009 เอาไว้อย่างน่าสนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้เปรียบเทียบปริมาณคาร์บอนหรือรอยเท้าคาร์บอน (Carbon footprint) ที่เกิดจากการผลิตและการบริโภคอาหารแต่ละชนิดในชีวิตประจำวันของคนอเมริกันไว้ ดังนี้


· ผักต้ม ปริมาณ 110 กรัม มีคาร์บอนฟรุตปริ้นท์ เท่ากับ 0.08 กิโลกรัม มีไขมัน 0.13 กรัม
· พาสต้า ปริมาณ 110 กรัม มีคาร์บอนฟรุตปริ้นท์ เท่ากับ 0.18 กิโลกรัม มีไขมัน 1.2 กรัม

· ไก่ย่าง ปริมาณ 110 กรัม มีคาร์บอนฟรุตปริ้นท์ เท่ากับ 0.6 กิโลกรัม มีไขมัน 4.17 กรัม

· ชีส ปริมาณ 110 กรัม มีคาร์บอนฟรุตปริ้นท์ เท่ากับ 1.0 กิโลกรัม มีไขมัน 37.6 กรัม

· สเต๊ก ปริมาณ 110 กรัม มีคาร์บอนฟรุตปริ้นท์ เท่ากับ 4.8 กิโลกรัม มีไขมัน 24.5 กรัม
จะเห็นได้ว่า ถ้าเราบริโภคเนื้อสัตว์น้อยลงก็จะเป็นการลดคาร์บอนฟุตปรินท์ลงด้วย โดยเฉพาะเนื้อวัวที่ต้องใช้พลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลสูงถึง 80 แคลอรี่เทียบเท่าต่อการผลิตเนื้อวัวให้ได้พลังงาน 1 แคลอรี่ แต่พืชผักสีเขียวและผลไม้ที่ให้พลังงาน 1 แคลอรี่ ใช้พลังงานฟอสซิล เพียง 2 แคลอรี่เทียบเท่า (Bryan Walsh, 2009)
และเมื่อพิจารณาลงไปถึงการเลี้ยงสัตว์ในฟาร์ม ก็จะพบว่าเราต้องผลิตอาหารสัตว์จำนวนมากเพื่อเลี้ยงสัตว์ นั่นหมายถึง ฟาร์มก็จะมีการใช้ปุ๋ยเคมีในการบำรุงพืชอาหารสัตว์ในปริมาณมากเช่นเดียวกัน ปุ๋ยเคมีเหล่านั้นก็ผลิตไนตรัสออกไซด์ออกสู่ชั้นบรรยากาศ พืชอาหารสัตว์ก็ผลิตมีเทน ซึ่งก๊าซเรือนกระจกทั้งสองชนิด นั้นมีศักยภาพในการทำลายชั้นบรรยากาศได้สูงกว่าคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 296 และ 23 เท่า ตามลำดับ

Bryan ยังระบุด้วยว่า การปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศโดยภาพรวมของทั้งโลกในภาคการเกษตรมากกว่าภาคขนส่งซะอีก ซึ่งภาคเกษตรมีปริมาณการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก 30% โดยประมาณ ดังนั้น เพื่อตระหนักถึงภาวะโลกร้อนเราควรทราบถึงปริมาณคาร์บอนที่เกิดจากกิจกรรมต่างๆ โดยสามารถคำนวณได้ในรูปของคาร์บอนฟุตปรินท์และมากไปกว่านั้นเราต้องรู้จักเลือกประเภทอาหารที่บริโภคด้วยเพราะว่า “อาหารที่เรากินเข้าไปนั้น สำคัญพอๆ กับ ประเภทรถที่เราขับ”



1 ความคิดเห็น:

Unknown กล่าวว่า...

ขอบคุณข้อมูลสำหรับดีๆ ครับ
กิตติพงค์