วันศุกร์ที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

10 มหัศจรรย์ พลังงานทดแทน กู้วิกฤตโลกร้อน


นายวิชัย พิมพ์ทอง

ศูนย์เกษตรอินทรีย์ ยโสธร



ศตวรรษที่ 21 เป็นโลกสังคมข้อมูลข่าวสาร ทุกคนสามารถที่จะรับรู้ได้อย่างทั่วถึงและเลือกสรรสาระในข้ามูลข่าวสารนั้นๆ นำมาใช้หรือวางแผนในการดำรงชีวิตของตนเองและคนรุ่นหลังในอนาคตได้อย่างชัดเจนและมีเป้าหมาย

ปัจจุบันสมัยของสังคมมนุษย์มีการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยมากขึ้น เพื่อการพัฒนาสังคมการทำงานและความสะดวกสบายของตนเอง และเป็นส่วนมากที่เทคโนโลยีสมัยใหม่ ต้องใช้พลังงานในการขับเคลื่อนตังเอง เช่น ก๊าซ น้ำมัน

มีการคาดคะเนว่า น้ำมันจะหมดโลกอีก 50 ปีข้างหน้า เมื่อมนุษย์รีดเค้นเอาวัตถุพลังงานจากโลกมาใช้มากจนเกินไป ซึ่งทำให้โลกต้องเจอกับภาวะวิกฤติ เกิดมลพิษสภาวะเรือนกระจก ทำลายสิ่งแวดล้อมและโลกก็ร้อนขึ้น

พลังงานทดแทนเป็นทางเลือกที่มนุษย์จะต้องรักษาและนำมาใช้ในการขับเคลื่อนเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาสังคม และเศรษฐกิจให้ยั่งยืนและเพื่อเติมเต็มอนุรักษ์ สภาวะความสมดุลของโลกต่อไป และกระทรวงพลังงานได้ทดลองและค้นหาพลังงานทดแทนที่จะนำมาใช้ในประเทศไทย เพื่อลดการนำเข้าน้ำมันและเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม เพื่อกู้วิกฤตโลกร้อน ซึ่งเป็นแนวทางที่นำไปปรับใช้กับวิถีชีวิตของคนไทยดังนี้


1. ไบโอดีเซล

พลังงานแห่งยุคสมัย สำหรับการผลิตไบโอดีเซล จะมีวัตถุดิบหลายอย่าง เช่น น้ำมันพืชที่ใช้แล้ว ไขมันวัว เมล็ดสบู่ดำ น้ำมันปาล์มดิบ ซึ่งน้ำมันพืชที่ใช้แล้วนั้น เราสามารถหาได้ง่ายๆ ไม่ว่าจะเป็นในตลาดสด สถานประกอบการ โรงงาน และครัวเรือน ซึ่งที่จังหวัดเชียงใหม่ ต. หนองแก๋ว อ.หางดง อยู่ห่างจากตัวเมืองไม่ถึง 20 กิโลเมตร ทุกครัวเรือนในหมู่บ้านใช้ใบโอดีเซลในกิจการของหมู่บ้านแทบทั้งนั้น เช่น ใช้กับเครื่องปั่นไฟฟ้า รถยนต์ทุกคันในหมู่บ้านไปจนถึงรถไถ ฯลฯ ซึ่งไม่ใช่แค่หมู่บ้านเดียว แต่มีรวมกันถึง 9 หมู่บ้าน ซึ่งหมู่บ้านทั้งหมดนี้มีอาชีพอย่างเดียวกันคือ ทอดแคบหมูขาย ดังนั้น จึงมีน้ำมันที่ใช้แล้ว ลดน้อยลงไปทุกที ทางสถาบันวิจัยจึงได้นำไขวัวมาใช้เป็นวัตถุดิบ ซึ่งสามารถนำมาใช้ได้เหมือนน้ำมันพืช ที่ใช้แล้ว เช่นกัน และนอกจากนี้ เมล็ดทานตะวัน ก็สามารถนำมาเป็นวัตถุดิบได้เช่นกัน


2. เปลี่ยนขยะเป็นพลังงาน

จากคณะทำงานซึ่งเกิดจากความร่วมมือของภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ทำการศึกษา การหลอมเหลวของพลาสติกในระบบไร้อากาศที่เรียกกระบวนการว่า ไพโรไลซีส ซึ่งมีวัตถุดิบ คือ ขยะพลาสติก จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง ซึ่งได้ไปดูงานที่ประเทศโปแลนด์ พบว่า คุณสมบัติของน้ำมันที่ได้อยู่ในขั้นดี คือ เป็นน้ำมันดิบ ส่วนในเทศบาลนครระยองได้มีโรงผลิตปุ๋ยอินทรีย์ และพลังงาน ซึ่งเราสามารถช่วยสิ่งแวดล้อมได้ ไม่ว่าจะเป็นการควบคุมการลดปัญหาเรื่องก๊าซเรือนกระจกและปัญหาโลกร้อน นอกจากนี้ ขยะยังสามารถนำมาผลิตกระแสไฟฟ้า ได้จากการคัดขยะ เป็นขยะรีไซเคิลและขยะอินทรีย์ที่หมักเป็นไบโอก๊าซ


3. ชีวมวล

พลังงานจากเศษวัสดุเกษตร ชีวมวล หมายถึง สารอินทรีย์ที่เป็นแหล่งกักเก็บพลังงานจากธรรมชาติ และสามารถนำมาใช้ผลิตพลังงานได้ เช่น เศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร หรือกากจากกระบวนการผลิตในอุตสาหกรรมการเกษตร เช่น แกลบ กากอ้อย เศษไม้ กากปาล์ม กากมันสำปะหลัง ซังข้าวโพด และมะพร้าว ซึ่งนอกจากจะปลูกไว้กินแล้วยังสามารถนำไปผลิตพลังงานไฟฟ้าด้วย


4. น้ำเสีย

น้ำเสียของดีที่เปลี่ยนเป็นพลังงาน เนื่องจากที่บริษัทสงวนวงษ์ อุตสาหกรรมจำกัด โรงงานผลิตแป้งมันสำปะหลังที่จังหวัดนครราชสีมา ได้มีการผลิตแป้งมันสำปะหลัง จึงจำเป็นต้องใช้น้ำมากในการล้าง วัตถุดิบพวกหัวมัน กากมันสำปะหลัง ร่วมถึงล้างแป้งด้วย ซึ่งแต่ก่อนน้ำที่ใช้แล้ว ทั้งหมดในโรงงานจะทิ้งออกไปหรือระบายออกไปไว้ในบ่อน้ำเสียแบบเปิดหลายสิบบ่อที่เรียกว่า บ่อผึ่ง ซึ่งเป็นบ่อดิน ที่มีการออกแบบให้จุลินทรีย์ย่อยสลายสารอินทรีย์ต่างๆ ในน้ำเสีย โดยวิธีการย่อยสลายแบบใช้ออกซิเจนเป็นหลัก ดังนั้นหาความสกปรกของน้ำเสียสูงเกินไป เกิดภาวะออกซิเจนละลายน้ำไม่เพียงพอแล้วก็จะเกิดปัญหาเรื่องกลิ่นเหม็นจึงได้มีการปรับเปลี่ยนระบบบำบัดน้ำเสีย เป็นระบบบ่อ ABR (Anaerobic Baffle Reactor) หรือถังไร้อากาศแบบแผ่นกั้น ซึ่งการบำบัดน้ำเสียในรูปแบบนี้เป็นระบบน้ำเสียแบบมีลักษณะเป็นถัง หรือเป็นบ่อดินที่มีผื่นผ้าใบติดตั้งครอบไว้ ส่วนการไหลของน้ำเสียที่มีอยู่มากมายนั้น กลายเป็นพลังงานทดแทนที่เรียกว่า ก๊าซชีวภาพ เพื่อนำมาใช้เป็นพลังงานในกระบวนการผลิตแป้งมัน แทนน้ำมันเตาที่ใช้อยู่เดิมเป็นการประหยัดงบประมาณได้อย่างมาหาศาล ที่สำคัญเป็นการช่วยลดการปล่อยก๊าซมีเทนขึ้นสู่บรรยากาศ และทำให้ไม่เกิดกลิ่นเหม็นอีกด้วย


5. มูลสัตว์

มูลสัตว์อีกหนึ่งสุดยอดพลังงาน เนื่องจากสภาวะโลกร้อนกำลังเป็นปัญหาอันตรายอันน่ากลัวของโลกมนุษย์ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น หลายหน่วยงานจึงพยายามคิดค้นหาวิธีช่วยโลก โดยการหันเข้าหาสิ่งที่ผู้คนทั่วไปมองว่าไร้ประโยชน์ พลิกกลับให้เป็นสิ่งสร้างประโยชน์ อย่างเรื่องขี้หมู แต่จริงไม่ใช่แค่ขี้หมูที่สร้างประโยชน์ได้ มูลสัตว์ทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นช้าง ม้า วัว ควายไปจนถึงอุจจาระของคน ก็เป็นประโยชน์ทั้งนั้น เนื่องจากมูลที่นำมาทำก๊าซชีวภาพได้ง่ายที่สุดคือ ขี้หมู ส่วนอย่างอื่น เข่น ของเสียจากคนหรือช้าง มีความแตกต่างของสารอาหารแบคทีเรียไม่สามารถย่อยบางอย่างที่อยู่ในมูลได้เพราะกากเยอะ เยื่อเยอะ อาจต้องกำจัดกากหรือเยื่อออกก่อนเข้ากระบวนการผลิตก๊าซ

ซึ่งไทยเรามีของเสียจากภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมในปริมาณมาก จึงควรนำของเสียต่างๆ มาผ่านกระบวนการทำให้เกิดเป็นก๊าซชีวภาพ เพื่อจะได้นำมาใช้เป็นพลังงานทดแทนต่อไป ซึ่งมีกระบวนการทำให้เกิดเป็นก๊าซชีวภาพ เพื่อจะได้นำมาใช้เป็นพลังงานทดแทนต่อไป ซึ่งมีกระบวนการคือ นำขี้หมูเข้าไปอยู่ในบ่อ ปล่อยให้แบคทีเรียกินสารอินทรีย์ในสภาวะไร้อากาศ หรือไม่ก็ให้มีอากาศน้อยที่สุด ไม่ต้องใส่สารเร่งใดๆ ทั้งสิ้น ใช้เวลาไม่กี่วันก็จะได้ก๊าซชีวภาพ นอกจากก๊าซชีวภาพจากขี้หมู จะนำไปใช้เป็นพลังงานทดแทน ที่ช่วยลดปัญหาสภาวะโลกร้อน กากขี้หมูยังสามารถแปรสภาพเป็นปุ๋ยให้ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียมกับดิน ส่วนน้ำเสียที่ผ่านการหมักแล้ว สามารถนำไปใช้รดน้ำต้นไม้ที่เราปลูกหรือปล่อยเข้าที่นาได้เป็นการประหยัดทรัพยากรได้ได้อีกทางหนึ่ง


6. แสงแดด

เนื่องจากแสงแดดสามารถพัฒนาเพื่อเป็นพลังงาน จึงทำให้เกิดพลังงานแสงอาทิตย์ขึ้น ซึ่งได้รับความสนใจมากยิ่งขึ้น ซึ่งเซลล์แสงอาทิตย์ที่นิยมใช้กันอยู่ในปัจจุบันแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ

1. เซลล์แสงอาทิตย์ที่ทำจากสารกึ่งตัวนำประเภทซิลิกอน ซึ่งแบบที่เป็นรูปผลึกสามารถแบ่งได้อีก 2 ชนิด คือ ชนิดผลึกเดี่ยวซิลิกอน และชนิดผลึกรวมซิลิกอน ส่วนแบบที่ไม่เป็นรูปผลึก เป็นชนิดฟิล์มบางอะมอร์ฟัสซิลิกอน

2. กลุ่มเซลล์แสงอาทิตย์ที่ทำจากสารประกอบที่ไม่ใช่ซิลิกอน จะเป็นเซลล์แสงอาทิตย์ที่มีประสิทธิภาพสูงสุด แต่มีราคาสูงมาก เซลล์กลุ่มนี้ไม่นิยมนำมาใช้เพื่อการผลิตกระแสไฟฟ้า แต่เน้นใช้งานกับดาวเทียมและระบบรวมแสงเป็นส่วนใหญ่

ซึ่งพลังงานแสงอาทิตย์นั้น นอกจากจะได้ประโยชน์ในภาพรวมต่อสิ่งแวดล้อมของประเทศแล้วในอนาคตธุรกิจไฟฟ้ายังสามารถได้เงินจากการขายคาร์บอนเครดิต ให้กับประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่ไม่สามารถลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนในประเทศของตนเองลดลงได้ ซึ่งในระหว่างเดือนเมษายนและพฤษภาคม ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยครอบคลุมบางส่วนบางจังหวัดของนครราชสีมา สุรินทร์ ศรีสะเกษ ร้อยเอ็ด อุบลราชธานี และยโสธร และบางส่วนของภาคกลางที่จังหวัดสุพรรณบุรี ชัยนาท อยุธยาและลพบุรี จากการคำนวณรังสีรวมของดวงอาทิตย์รายวันเฉลี่ยต่อปีของพื้นที่ทั่วประเทศพบว่า มีค่าเท่ากับ 18.2 เมกะจูล / ตารางเมตร / วัน จากผลที่ได้นี้ แสดงว่าประเทศไทยมีศักยภาพพลังงานแสงอาทิตย์ค่อนข้างสูง ดังนั้น หากในอนาคตมีการขยายการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ตามพื้นที่ที่มีศักยภาพเหล่านี้ เชื่อว่า ประเทศไทยจะเป็นส่วนที่ช่วยลดโลกร้อนได้มากทีเดียว


7. พลังงานน้ำ

มหัศจรรย์ พลังงานน้ำ ผลิตไฟฟ้าในชุมชน น้ำมีพลังงานสามารถแปรเปลี่ยนเป็นไฟฟ้าได้ ซึ่งในชุมชน พื้นที่ใกล้ตัวสามารถนำมาผลิตกระแสไฟฟ้าได้เหมือนกับเขื่อนขนาดใหญ่ และเขื่อนขนาดเล็ก ก็คือ การสร้างฝายน้ำล้น เพื่อกักน้ำจากลำน้ำ โดยอาศัยความต่างระดับของน้ำในลำน้ำ กำหนดให้น้ำไหลลงมาตามทางน้ำมี่มีความชันจากสิ่งประดิษฐ์ที่เราสร้างขึ้น บังคับน้ำให้ไหลไปรวมกันที่อ่างหรือถังเก็บน้ำ น้ำเหล่านี้จะไหลผ่านท่อน้ำแรงดันไปหมุนกังหันน้ำ ไปขับเครื่องกำเนิดไฟฟ้าในอาคารโรงไฟฟ้า เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าในอาคารโรงไฟฟ้า

ซึ่งหมู่บ้านแม่กำปอง จังหวัดเชียงใหม่ ได้ขยายโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็กที่ใช้ประโยชน์จากลำห้วยเล็กๆ และมีการจัดตั้งเป็น สหกรณ์ๆ ฟ้าพลังน้ำบ้านแม่กำปอง เก็บค่าไฟฟ้าโดยวัดจากมิเตอร์ น้ำที่กักเก็บไว้ในฤดูฝนจะเกิดประโยชน์ทางด้านบรรเทาอุทกภัยได้ส่วนหนึ่ง พอถึงฤดูแล้งสามารถปล่อยน้ำที่กักเก็บไว้ให้เกิดประโยชน์ทางด้านชลประทานได้ด้วย


8. อุปกรณ์มหัศจรรย์

ปัจจุบัน ส่วนมากจะใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าเบอร์ 5 เพราะช่วยประหยัดพลังงาน ซึ่งอุปกรณ์ประหยัดพลังงานไม่ใช่มีเพียงเท่านี้ มีสิ่งประดิษฐ์ใหม่ที่มีคุณสมบัติประหยัดพลังงาน ออกมาให้เห็นและสัมผัสอยู่เรื่อยๆ อย่างหม้อก๋วยเตี๋ยวประหยัดพลังงาน ซึ่งคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ประดิษฐ์ขึ้นด้วยงบประมาณสนับสนุน 2 ล้านบาท ได้ปรับปรุงจากหม้อก๋วยเตี๋ยว ขนาด 14 นิ้ว แบบเดิม ด้วยการครอบฉนวนกันความร้อน ด้านข้างสวมเข้ากับหม้อเดิมและเพิ่มพื้นที่ผิวรับความร้อนที่ก้นหม้อ ซึ่งเดิมผิวเรียบโดยทำเป็นลอน สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการรับความร้อนได้มากขึ้น และลดค่าใช้จ่ายพลังงานอย่างได้ผล


9. คิดก่อนทำ แผนพลังงานชุมชุม

ว่ากันว่าแผนการใช้พลังงานที่ดี และมีประสิทธิภาพจะช่วยลดค่าใช้จ่ายอย่างคาดไม่ถึง เช่น กำหนดรูปแบบประหยัดพลังงานในแต่ละด้าน เช่น การเปลี่ยนอุปกรณ์ไฟฟ้าแบประหยังไฟ ลดการใช้พลังงานอื่นๆที่ไม่จำเป็นโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องการใช้ถ่าน ฟืน แกลบ ในการหุงต้มจำนวนมาก การใช้เตาเผาถ่านเตาหลุมหรือเตาแกลบที่ควรปรับปรุงรูปแบบการใช้พลังงานอย่างคุ้มค่า โดยใช้ภูมิปัญญาในท้องถิ่นผสมผสานเทคโนโลยีที่เหมาะสม นั่นคือเตาเผาถ่านประสิทธิภาพสูง 200 ลิตร และเตาหุงต้มประสิทธิภาพสูงหรือเตาซุปเปอร์อั้งโล่ ส่วนน้ำส้มควันไม้ ก็เป็นผลพลอยได้จากการเผาถ่านไม้สดภายใต้สภาพอับอากาศ โดยเมื่อควันที่เกิดจากการเผาไหม้ไม้ ผ่านสภาพอากาศเย็นจะทำให้ควันเกิดการควบแน่น และเปลี่ยนเป็นของเหลว และเมื่อทิ้งไว้ประมาณ 3 6 เดือน ของเหลวดังกล่าว จะแยกชั้นโดยส่วนบนจะเป็นส่วนของเหลวสีน้ำตาล ซึ่งเรียกว่า น้ำส้มควันไม้ที่สามารถกำจัดเชื้อโรคในดิน เป็นสารไล่แมลงเนื่องจากมีกลิ่นควัน หรือใช้ในทางการเกษตรในลักษณะของปุ๋ยก็ได้


10. พลังงานต้นทุนถูกโรงไฟฟ้านิวเคลียร์

การผลิตไฟฟ้าโดยใช้พลังงานนิวเคลียร์ เป็นเชื้อเพลิงถือเป็นเรื่องใหม่ สำหรับประเทศไทย เหตุที่ได้รับความสนใจ เพราะหากพิจารณาในเรื่องของต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าจากราคาฐานปัจจุบัน จะพบว่า โรงไฟฟ้านิวเคลียร์มีต้นทุนต่ำที่สุด ซึ่งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในความเห็นของกฟฝ. จะสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้ออกไซด์ ลดลงถึง 87.84 ล้านตัน ซึ่งไม่น่าเชื่อว่าพลังงานที่น่ากลัวอย่างนิวเคลียร์จะสามารถช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้มาก

---------------------------------------------------------------

ประโยชน์ที่ได้รับจากการอ่านหนังสือ

1. ได้รู้จักพืชที่เป็นพืชพลังงานทดแทนและสามารถนำมาปลูกในพื้นที่ได้ เช่น สบู่ดำฯ

2. รู้ค่าของน้ำมันพืชที่ใช้แล้ว เก็บสะสมไว้เพื่อทำไบโอดีเซล

3. รู้จักเลือกใช้อุปกรณ์หรือเครื่องใช้ที่ประหยัดพลังงาน

4. รู้จักการนำขยะเศษวัสดุทางการเกษตรและน้ำเสียมาทำเป็นพลังงานทดแทนได้

5. รู้จักคิดวางแผนในการใช้พลังงานอย่างประหยัด

6. รู้จักค่าของแสงอาทิตย์ที่สามารถนำมาเป็นพลังงานได้

รู้จักพลังงานจากนิวเคลียร์ พลังงานต้นทุนต่ำและไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม และเปิดวิสัยทัศน์ของตัวเอง ว่า ในโลกนี้ยังมีพลังงานทดแทนที่สะอาดอีกมากมายรออยู่ เพื่อการนำมาใช้อย่างรู้ค่าและไม่ทำลายโลกด้วย

ไม่มีความคิดเห็น: