วันศุกร์ที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

คู่มือปุ๋ยอินทรีย์ ( ฉบับนักวิชาการ )

พรชัย ชมชื่น

บากเรือ จ.ยโสธร



เป็นเอกสารวิชาการลำดับที่ 20 / 2548 ลิขสิทธิ์เป็นของกรมวิชาการเกษตร คู่มือปุ๋ยอินทรีย์ เป็นหนังสือที่ทันสมัยและเป็นประโยชน์โดยทั่วไป เกษตรกรและผู้ที่จะใช้ปุ๋ยอินทรีย์ จะได้รู้จักปุ๋ยอินทรีย์อย่างถูกต้องยิ่งขึ้นและสามารถนำไปใช้เพื่อเพิ่มผลผลิตกับพืชที่ปลูก เพื่อให้ได้ผลผลิตที่คุ้มค่ากับการลงทุน

ขอบเขตและคำนิยามของปุ๋ยอินทรีย์

อินทรียวัตถุเป็นส่วนประกอบสำคัญของดิน ดินดีจะต้องมีอินทรียวัตถุเป็นส่วนประกอบโดยประมาณ 5 % โดยปริมาตร และดินดีจะต้องประกอบด้วยคุณสมบัติที่สำคัญ 5 ประการดังนี้

1. ความอุดมสมบูรณ์ดี 2. คุณสมบัติทางเคมีที่ดี

2. คุณสมบัติทางกายภาพที่ดี 3. คุณสมบัติทางชีวภาพที่ดี

5. สภาพแวดล้อมที่ดี

ปุ๋ยอินทรีย์

คือปุ๋ยที่ได้จากวัสดุอินทรียวัตถุที่ผ่านการย่อยสลายเสร็จสมบูรณ์แล้วจนเปลี่ยนเป็นสารอินทรีย์ที่คงตัวเรียกว่า ฮิวมัส และปลดปล่อยสารที่พืชสามารถดูดไปใช้ได้เช่น ปลดปล่อยสารไนโตรเจนในรูปของไนเตรท ปลดปล่อยฟอสฟอรัสในรูปของฟอสเฟต รูปของธาตุอาหารที่ปลดปล่อยดังกล่าวพืชสามารถดูดซึมผ่านรากไปใช้ได้โดยตรง แม้ปุ๋ยอินทรีย์จะมีธาตุอาหารพืชแต่ละชนิดเป็นองค์ประกอบที่ค่อนข้างต่ำ แต่หากสภาพแวดล้อมในดินดี ธาตุอาหารในปุ๋ยอินทรีย์จะถูกปลดปล่อยออกมาช้าๆ ( Slow release ) โดยกิจกรรมของจุลินทรีย์บางชนิดในดิน

ความหมายของปุ๋ยอินทรีย์

คือวัสดุที่ให้ธาตุแก่พืช ในพระราชบัญญัติปุ๋ย 2518 ได้ให้คำจำกัดความของปุ๋ยไว้ว่า ปุ๋ย หมายถึง สารอินทรีย์หรือสารอนินทรีย์ไม่ว่าจะเกิดขึ้นโดยธรรมชาติหรือทำขึ้นก็ตาม ใช้สำหรับเป็นธาตุอาหารแก่พืช เพื่อบำรุงความเติบโตแก่พืช

ตามหลักวิชาการปุ๋ยจำแนกเป็น 3 ประเภท

1. ปุ๋ยเคมี คือปุ๋ยที่ได้จากสารอนินทรีย์หรือสารอินทรีย์สังเคราะห์ รวมถึงปุ๋ยเชิงเดี่ยว ปุ๋ยเชิงผสมและปุ๋ยเชิงประกอบและยังรวมถึงปุ๋ยอินทรีย์ที่มีปุ๋ยเคมีผสมอยู่ แต่ไม่รวมสารจำพวก ปูนมาร์ล ปูนขาว ปูนพลาสเตอร์หรือยิปซัม

2. ปุ๋ยอินทรีย์ คือปุ๋ยที่ได้จากอินทรียวัตถุ ซึ่งผลิตด้วยกรรมวิธีทำให้ชื้น , สับ , บด , หมัก , ร้อนหรือวิธีการอื่นๆ แต่ไม่ใช่ปุ๋ยเคมีและปุ๋ยชีวภาพ ซึ่งได้แก่ ปุ๋ยคอก , ปุ๋ยหมัก และปุ๋ยพืชสด

3. ปุ๋ยชีวภาพ คือปุ๋ยที่ประกอบด้วยจุลินทรีย์ที่มีชีวิตที่สามารถสร้างธาตุอาหาร หรือช่วยให้ธาตุอาหารแก่พืช ซึ่งได้แก่ ปุ๋ยชีวภาพไรโซเดียม , ปุ๋ยชีวภาพไมโคไรซ่า , ปุ๋ยชีวภาพ PGR 1 , ปุ๋ยชีวภาพจุลินทรีย์ละลายฟอสเฟต

ดินดีต้องมีองค์ประกอบที่สำคัญดังนี้

1. มีคุณสมบัติทางกายภาพที่ดี

คือมีโครงสร้างดี ร่วนซุย ไม่จับกันเป็นก้อน มีการระบายน้ำและถ่ายเทอากาศดี มีเนื้อดินเหมาะสม

2. มีคุณสมบัติทางเคมีเหมาะสม

คือมีสภาพความเป็นกรด ด่าง หรือสภาพของความเค็มที่ไม่เป็นอันตรายต่อการผลิตพืชตามปกติ ดินมีความสามารถหรือความจุในการแลกเปลี่ยนประจุ ทำให้มีประสิทธิภาพในการดูดซับ กักเก็บ และปลดปล่อยธาตุอาหารให้แก่พืชได้อย่างเหมาะสม

3. มีคุณสมบัติทางชีวภาพที่ดี

คือมีจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์เช่น แบคทีเรีย , รา , แอคทิโนมัยซีท ชนิดและปริมาณที่เหมาะสมของจุลินทรีย์ในดินช่วยให้เกิดกิจกรรมทางชีวเคมี ช่วยในการปลดปล่อยธาตุอาหารในดินให้พืชอย่างต่อเนื่อง

4. มีธาตุอาหารพืชเพียงพอและสมดุล

คือมีธาตุอาหารที่พืชต้องการครบ ไม่ว่าจะเป็นธาตุอาหารหลัก ( N,P,K ) ธาตุอาหารรอง ( Ca , Mg , S )และจุลธาตุ ( Fe , Mn , Cu , B , Mo , C ) อย่างเพียงพอและสมดุล องค์ประกอบที่สำคัญทั้ง 4 ประการนี้จะมีความเชื่อมโยงกัน ไม่มีองค์ประกอบใดมีอิสระต่อกัน

ข้อจำกัดของปุ๋ยอินทรีย์

1. ปุ๋ยอินทรีย์มีธาตุอาหารของพืชน้อย หากต้องการที่จะให้พืชรับธาตุอาหารเท่ากับการใช้ปุ๋ยเคมีจะต้องใช้ปุ๋ยอินทรีย์ในปริมาณที่มากกว่า และเสียค่าใช้จ่ายสูงมากกว่าการใช้ปุ๋ยเคมี

2. การใช้ปุ๋ยอินทรีย์ไม่สามารถที่จะปรับแต่งปุ๋ยให้เหมาะสมกับดินและพืชได้ เนื่องจากปุ๋ยอินทรีย์ได้มาจากซากพืชและสัตว์ซึ่งมีธาตุอาหารพืชในปริมาณน้อย และสัดส่วนของธาตุอาหารพืชต่างๆของปุ๋ยอินทรีย์ผันแปรในช่วงที่แคบมากทำให้ไม่สามารถปรับสมดุลของธาตุอาหารพืชในดินได้เมื่อเทียบกับปุ๋ยเคมี

3. ปุ๋ยอินทรีย์ควบคุมการปลดปล่อยธาตุอาหารให้ตรงเวลากับที่พืชต้องการได้ยาก เพราะปุ๋ยอินทรีย์จะปลดปล่อยธาตุอาหารออกมาช้าๆ ทำให้พืชที่ปลูกโดยใส่ปุ๋ยอินทรีย์นั้นโตช้ากว่าพืชที่ปลูกแล้วใส่ปุ๋ยเคมี

4. ปุ๋ยอินทรีย์ทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจก

ในสภาวะที่ฝนตกหนักและมีน้ำขัง จะทำให้ดินมีออกซิเจนน้อยไม่เพียงพอ สภาพเช่นนี้จะทำให้เกิดก๊าซมีเทนและไนตรัสอ๊อกไซด์ในดิน ซึ่งก๊าซ 2 ชนิดนี้เมื่อระเหยสู่บรรยากาศ จะทำให้เกิดปรากฎการณ์เรือนกระจกทำให้โลกร้อน โดยเฉพาะปุ๋ยอินทรีย์ที่มีอัตราส่วนระหว่างคาร์บอนกับไนโตรเจนที่กว่าง

5. ปุ๋ยอินทรีย์บางชนิดมีธาตุโลหะหนัก หรือมีสารพิษปนเปื้อนในวัสดุอินทรีย์ที่นำมาทำปุ๋ยหมัก เมื่อนำไปใช้กับพืช พืชบางชนิดอาจตายหรือมีสารอย่างเช่น สารแคดเมียม , สารสังกะสี , สารปรอท , สารตะกั่ว ตกค้างอยู่ในผลผลิตที่ใส่ปุ๋ยอินทรีย์ที่มีสารโลหะหนักปะปนอยู่

ชนิดของปุ๋ยอินทรีย์

1. ปุ๋ยหมัก

คือการนำเอาวัสดุอินทรีย์ที่มี C / N กว้าง ผ่านกระบวนการย่อยสลายของจุลินทรีย์ และความร้อนจากการย่อยสลายเป็นตัวช่วยทำลายเชื้อโรคจากพืช , แมลง ตลอดจนเมล็ดของวัชพืช จนได้ปุ๋ยหมักที่มี C / N ในช่วงแคบต่ำกว่า 20 ซึ่งใกล้เคียงกับ C / N ของอินทรียวัตถุ ปุ๋ยหมักสามารถที่จะนำไปใช้ได้เมื่อผ่านกระบวนการหมักจะมีสีน้ำตาลจนถึงดำ ไม่มีความร้อน ลักษณะเปื่อยยุ่ยนุ่มมือ มีกลิ่นคล้ายกลิ่นของดินตามธรรมชาติ เหมาะที่จะนำไปใช้ในการปรับปรุงคุณสมบัติทางกายภาพของดิน

2. มูลสัตว์

เป็นปุ๋ยอินทรีย์ที่มีธาตุอาหารสูงสามารถใช้แทนปุ๋ยเคมีได้ดี แต่มีราคาที่ค่อนข้างแพงควรใช้กับพืชที่มีรายได้ผลตอบแทนสูงยกตัวอย่างเช่น

- ปุ๋ยมูลไก่และมูลเป็ด

เป็นมูลสัตว์ที่มีธาตุอาหารพืชค่อนข้างสูง แต่ไม่ควรนำมูลที่สดๆ มาใช้กับพืชผักโดยตรง ควรนำไปหมักให้สมบูรณ์ก่อนนำไปใช้ อัตราการใช้ 500 1,000 กิโลกรัม / ไร่

- ปุ๋ยมูลหมู

เป็นมูลสัตว์ที่มีธาตุอาหารพืชค่อนข้างสูง มูลหมูมักจะมีปริมาณของสารสังกะสีและสารทองแดงมาก การใช้สะสมนานๆ อาจเป็นอันตรายต่อพืช ควรนำไปหมักร่วมกับแกลบ , ขี้เลื่อย , ฟางข้าวก่อนนำไปใช้ อัตราการใช้ 1,000 2,000 กิโลกรัม / ไร่

- ปุ๋ยมูลโค , มูลกระบือ

เป็นมูลสัตว์ที่มีธาตุอาหารพืชค่อนข้างต่ำกว่ามูลสัตว์อื่น เพราะเป็นสัตว์กินหญ้า ดังนั้นจึงไม่ควรนำมูลสัตว์ไปใช้กับพืชโดยตรงเพราะปัญหาเกี่ยวกับวัชพืชจะตามมา ควรนำไปหมักให้สมบูรณ์ก่อนนำไปใช้ อัตราการใช้ 2,000 5,000 กิโลกรัม / ไร่

- ปุ๋ยคอก

คือปุ๋ยที่ได้จากการหมักเศษซากพืชต่างๆ รวมถึง ขี้เลื่อย , แกลบ , ผักตบชวา นำไปรองพื้นคอกของโคและกระบือ และปล่อยให้สัตว์เยียบย่ำผสมกับมูลที่ถ่ายออกมา โดยทั่วไปปุ๋ยคอกจะมีคุณสมบัติด้อยกว่าปุ๋ยหมักและปุ๋ยมูลสัตว์อื่น แต่วิธีการทำจะง่ายกว่าปุ๋ยหมัก

- ปุ๋ยมูลค้างคาว

เป็นปุ๋ยอินทรีย์ที่มีธาตุอาหารสูงมาก ใช้กับพืชที่ปลูกจะทำให้พืชเจริญเติบโตได้เร็วเทียบเท่ากับปุ๋ยเคมีสามารถใช้แทนปุ๋ยเคมีได้ดี แต่มีราคาสูง เป็นปุ๋ยที่มีธาตุฟอสฟอรัสสูงเกิน 5 % เหมาะสำหรับการนำไปใช้กับดินที่เป็นกรด แต่ต้องใช้ร่วมกับปุ๋ยอินทรีย์จึงจะมีประสิทธิภาพสูง

- กระดูกป่นและเปลือกหอยป่น

เป็นปุ๋ยที่ได้จากโรงงานสัตว์ โดยการนำเอากระดูกชิ้นใหญ่ๆ และแข็งนำมาบดให้มีขนาดเล็ก เป็นปุ๋ยที่ให้ธาตุอาหารไนโตรเจน ฟอสฟอรัส แคลเซียม และธาตุอาหารปริมาณน้อยอีกมากมาย เหมาะที่จะนำไปใช้กับไม้ผลและไม้ดอก แต่ปุ๋ยอินทรีย์ชนิดนี้มีราคาค่อนข้างสูง อัตราการใช้ 100 200 กิโลกรัม / ไร่

- ปุ๋ยพืชสดและพืชคลุมดิน

เป็นการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ให้ได้ปริมาณที่มากพอกับพื้นที่และต้นทุนน้อย ปุ๋ยพืชสดที่นิยมใช้คือพืชตระกูลถั่วที่มีอายุสั้นอยู่ในช่วง 45 60 วัน ส่วนพืชคลุมดินนิยมใช้พืชตระกูลถั่วที่มีอายุยาวข้ามปี แล้วไถกลบเมื่อต้องการใช้พื้นที่ทำการเกษตร ปริมาณของต้นพืชที่ถูกไถกลบ จะขึ้นอยู่กับชนิดของพืชที่เลือกใช้ และอีกวิธีคือ การหว่านปุ๋ยพืชสดพร้อมการผลิตพืชที่ต้องการเช่น การหว่านถั่วเขียวและข้าวพร้อมกันในปริมาณ 8 : 5 กิโลกรัม / ไร่ เหมาะที่จะทำการผลิตในที่นาดอน และสามารถที่จะควบคุม และระบายน้ำออกได้ง่าย

- ตอซังและซากของพืช

เป็นปุ๋ยอินทรีย์ที่ได้จากส่วนของพืชที่เหลือคงค้างในพื้นที่ ที่ทำการผลิตพืช เช่น มันสำปะหลัง , ข้าวโพด , ข้าวฟ่าง , ถั่วลิสง , ถั่วเขียว , ฟางข้าว ซึ่งสามารถไถกลบเมื่อเก็บผลผลิตนั้นเสร็จ จะทำให้ดินร่วนซุย หรือเศษซากพืชอื่นๆ เช่น แกลบ , ขี้เลื่อย , ขี้เถ่าแกลบ , ขุยหรือกาบมะพร้าวสับ , เปลือกไม้ , เปลือกถั่ว หรือเศษหญ้า ฯลฯ ซึ่งเศษวัสดุอินทรีย์เหล่านี้ จะเน่าเปื่อยได้ช้า สามารถนำไปใช้ในการปรับปรุงดิน และแก้ปัญหาดินเค็ม ดินโซดิก โดยใช้แกลบ 1,000 3,000 กิโลกรัม / ไร่ จะช่วยทำให้ดินโปร่งและร่วนซุย สามารถ ลดการเคลื่อนของเกลือที่จะขึ้นมาสู่ผิวดิน ช่วยลดปัญหาการตายของพืชที่ปลูกในดินเค็ม และแกลบยังมี ซิลีกา ซึ่งเป็นธาตุอาหารเสริม ช่วยให้ต้นพืชแข็งแรงและยังทนทานต่อโรคและแมลง

- เศษพืชหรือวัสดุอินทรีย์จากโรงงานอุตสาหกรรม

ถ้าหากมีการจัดการกับเศษวัสดุอินทรีย์จากโรงงานที่ดีและเหมาะสมแล้ว สามารถที่จะนำไปใช้ในการปรับปรุงดินได้อย่างดี วัสดุที่ได้จากโรงงานส่วนใหญ่ที่นิยมนำมาทำปุ๋ยหมักเช่น กากอ้อย , ขี้เลื่อย , เปลือกไม้ , ขุยมะพร้าว , กากผงชูรส วัสดุเหล่านี้มีปริมาณธาตุอาหาร และคุณสมบัติทางกายภาพ และคุณสมบัติทางเคมีที่แตกต่างกัน วัสดุหลายชนิดมีปริมาณธาตุอาหารมาก เหมาะที่จะนำไปใช้ปรับปรุงดินได้โดยตรง วัสดุบางชนิดจะต้องปรับสภาพบางประการให้เหมาะสม จึงสามารถนำไปใช้ได้

อัตราการใช้ปุ๋ยอินทรีย์

ขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของดิน ชนิดของดิน และชนิดของพืช ผัก ผลไม้ ข้าว หรือพืชไร่ ความแตกต่างในการทำเขตกรรม กล่าวคือดินที่มีการไถพรวนและใช้ปุ๋ยเพิ่มเป็นประจำ จะต้องใช้ปุ๋ยในปริมาณที่มากกว่าดินที่ไม่มีการไถพรวน และยังขึ้นอยู่กับลักษณะความสมบูรณ์ในการย่อยสลายของจุลินทรีย์ ถ้าการย่อยสลายของจุลินทรีย์ดี ใช้อัตรา 1 : 1 ถ้ายังมีการย่อยสลายอยู่ใช้อัตรา 20 30 % ของปริมาตรดิน ในกรณีที่ดินมีปัญหาต้องใส่ปุ๋ยอินทรีย์ร่วมกับสารปรับปรุงดินอื่นเช่น ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ร่วมกับปูนขาวในกรณีที่ดินเป็นกรด ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ร่วมกับยิปซัมหรือแกลบในกรณีที่ดินเค็ม

ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อกระบวนการหมักปุ๋ย

มีลักษณะเฉพาะของวัสดุอินทรีย์ที่นำมาหมัก , ปริมาณที่หมัก , ความชื้น , อัตราส่วนคาร์บอนต่อไนโตรเจน , การถ่ายเทของอากาศของกองหมัก , อุณหภูมิ และความเป็นกรด ด่าง ภายในกองปุ๋ย ที่สำคัญที่สุดคือจำนวนประชากรของจุลินทรีย์ที่มีอยู่ในวัสดุที่นำมาหมัก วัสดุที่นำมาทำปุ๋ยหมักแบ่งออกได้เป็น 2 จำพวกคือ

1. วัสดุที่ย่อยสลายตัวง่าย เช่น ผักตบชวา , ต้นกล้วย , ใบตอง , เศษหญ้าสด , พืชอมน้ำ , เศษผัก , พืชตระกูลถั่วต่างๆ

2. วัสดุที่ย่อยสลายตัวยาก เช่น ฟางข้าว , แกลบ , ชานอ้อย , ขี้เลื่อย , ขุยมะพร้าว , ต้นข้าวโพด , ซังข้าวโพดเป็นต้น

ขั้นตอนการทำปุ๋ยหมักที่ถูกต้องและประหยัด

1. การเลือกวัสดุที่นำมาทำปุ๋ยหมัก

ควรเป็นวัสดุที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น มีปริมาณที่เพียงพอที่จะนำมาทำปุ๋ยหมัก

2. การใส่ตัวเร่งเพิ่มในกองปุ๋ย

เพื่อลดระยะเวลาในการหมักปุ๋ย และให้ปุ๋ยที่หมักมีคุณภาพดี เช่น เชื้อจุลินทรีย์ , มูลสัตว์ต่างๆ

3. การจัดหาอุปกรณ์ในการทำปุ๋ยหมัก

เพื่อความสะดวกและประหยัดเวลาในการกองปุ๋ย เช่น คราด , เข่ง , บุ้งกี๋ , จอบ , เสียม , พลั่ว , บัว ลดน้ำ , ถังน้ำ

4. การเลือกสถานที่ ควรพิจารณาถึง

- แหล่งวัสดุ

- แหล่งน้ำ

- ลานกองปุ๋ย

- โรงหมักปุ๋ย

ปัญหาที่เกิดขึ้นในการทำปุ๋ยหมัก

1. กองปุ๋ยหมักเกิดกลิ่นเหม็น

อาจเกิดจากปุ๋ยที่หมักเปียกน้ำเกินไป หรือกองปุ๋ยที่หมักแน่นเกินไป ควรกลับกองปุ๋ยให้หลวมขึ้น และให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก ถ้าปุ๋ยที่หมักเปียกเกินไปให้เติบวัสดุเพิ่มเข้าไปอีก

2. กองปุ๋ยมีกลิ่นแอมโมเนีย

อาจเกิดจากปุ๋ยที่หมักมีไนโตรเจนมากเกินไป ควรหาวัสดุที่มีคาร์บอนเติมเข้าไปเช่น ใบไม้แห้ง ,ขี้ เลื่อยเป็นต้น

3. กองปุ๋ยหมักไม่มีการเปลี่ยนแปลง

อาจเกิดจากปุ๋ยที่หมักแห้งเกินไป ควรเพิ่มปริมาณความชื้นให้กองปุ๋ยหมักในขณะที่กลับกอง

4. กองปุ๋ยหมักมีความชื้นพอเพียง

อุณหภูมิกลางกองปุ๋ยสูงขึ้น แต่ไม่สูงพอที่จะเกิดการย่อยสลาย อาจเกิดจากปุ๋ยที่หมักกองเล็กเกินไป หรือ อาจเกิดจากปุ๋ยที่หมักกองใหญ่เกินไป ควรทำกองปุ๋ยที่หมักให้มีขนาดพอดี

ประโยชน์ของปุ๋ยหมัก

1. ด้านการเกษตร

กระบวนการหมักเป็นวิธีแปรเปลี่ยนวัสดุเหลือใช้กลับมาเป็นประโยชน์ต่อพืช ดินในเขตอบอุ่นมีอินทรียวัตถุเฉลี่ย 5 10 % ดินในเขตร้อนมีอินทรียวัตถุเฉลี่ย 1 % ดังนั้นจึงต้องเพิ่มปุ๋ยอินทรีย์ให้แก่ดินถ้าต้องการควบคุมความสมบูรณ์ของดินไว้

2. ทางกายภาพ

การใส่ปุ๋ยหมักลงดิน จะทำให้โครงสร้างของเนื้อดินดีขึ้น โดยอินทรียวัตถุในปุ๋ยหมักจะไปยึดอนุภาคดินเข้าด้วยกัน และปรับสภาพของดินให้ดีขึ้นตามลำดับเหมาะแก่การปลูกพืช

3. ทางเคมี

ปุ๋ยหมักมีธาตุอาหารต่างๆ ที่พืชต้องการ การใส่ปุ๋ยหมักลงดินเป็นการเพิ่มปริมาณธาตุอาหารให้แก่ดินไปด้วย และปุ๋ยหมักยังช่วยทำให้อาหารพืชที่อยู่ในดินแปรสภาพมาอยู่ในรูปที่พืชสามารถนำปใช้ประโยชน์ได้ง่ายขึ้น

4. ทางชีววิทยา

ในกองปุ๋ยที่หมักจะมีราและเชื้อแบคทีเรียอยู่ในปริมาณมากขึ้น เมื่อใส่ปุ๋ยหมักลงดิน จะช่วยเพิ่มปริมาณของจุลินทรีย์จำนวนนับล้านๆ เซลล์ จุลินทรีย์พวกนี้จะไปช่วยเพิ่มกระบวนการเปลี่ยนเป็นแอมโมเนีย กระบวนการเปลี่ยนเป็นไนเตรท และกระบวนการตรึงไนโตรเจน และปุ๋ยหมักยังไปช่วยกระตุ้น ราไมโคไรซ่าซึ่งอาศัยอยู่รอบๆ รากพืชให้ช่วยดูดซึมธาตุอาหารเพิ่มขึ้นอีกด้วย

ปุ๋ยหมักนั้นสามารถนำมาใช้กับพืชได้ทุกชนิด และปุ๋ยหมักนั้นยังสามารถที่จะนำมาใช้กับดินได้ทุกประเภท แต่อัตราการใช้จะแตกต่างกันไปตามสภาพของดินแต่ละแห่ง พืชที่ปลูก ภูมิอากาศ และที่สำคัญคุณภาพปุ๋ยที่หมักนั้น มีคุณภาพมากน้อยแค่ไหน ถ้าหมักปุ๋ยไม่ได้คุณภาพจะทำให้เราซึ่งเป็นเกษตรกร เสียทั้งเงิน เสียเวลา ในการลงทุนปลูกพืช ดังนั้นปุ๋ยหมักจะมีคุณภาพมากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับปัจจัยทุกๆ อย่างที่กล่าวมาทั้งหมดข้างต้น...

ไม่มีความคิดเห็น: