วันศุกร์ที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

ปาฏิหาริย์แห่งการตื่นอยู่เสมอ The Miracle of Being Awake

ติช นัท ฮันห์
หล้า มายะ
ศูนย์เกษตรอินทรีย์ยโสธร


จงจำไว้ว่ามีเวลาที่สำคัญ ที่สุดเวลาเดียว คือ ปัจจุบัน ช่วงขณะปัจจุบันเท่านั้น ที่เป็นเวลาที่เรา
เป็นเจ้าของอย่างแท้จริง
บุคคลที่สำคัญที่สุดก็คือ คนที่เรากำลังติดต่ออยู่ คนที่อยู่ต่อหน้าเรา เพราะเราไม่รู้ว่าอนาคตเราจะมีโอกาสได้ติดต่อกับใครอีกหรือไม่
และภารกิจที่สำคัญที่สุดก็คือ การทำให้คนที่เราอยู่กับเราขณะนั้นๆ มีความสุข เพราะนั่นเป็นภารกิจอย่างเดียวของชีวิต
เราจะทำอย่างไร จึงจะสามารถอยู่กับปัจจุบัน อยู่กับคนรอบข้างเรา ช่วยลดความทุกข์และเพิ่มความสุขแห่งชีวิตเหล่านั้น คำตอบก็คือ เราจะต้องมีสติ

ปาฏิหาริย์แห่งการตื่นอยู่เสมอ เขียนโดย ติช นัท ฮันห์ โดยมีการแปลเป็นภาษาอังกฤษโดย โมบิ ควิน ฮัว และแปลเป็นภาษาไทยโดย พระประชา ปสนฺนธมฺ ( ประชา หุตานุวัตร ) พิมพ์ครั้งที่ 17 ( ตอนนี้อาจมากกว่า ) โดยสำนักพิมพ์โกมลคีมทอง เป็นหนังสือที่ทำให้เข้าใจ รู้ถึงวิธีการและผลการตื่นอยู่เสมอด้วยสตินั้นเป็นปาฏิหาริย์ในตัวเอง เช่นเดียวกับชื่อหนังสือที่มีคุณค่าต่อตัวเอง คนอื่น สังคมและโลกด้วย
ติช นัท ฮันห์ มีนามเดิมว่า เหงียน ซวน เบ๋า เกิดที่จังหวัดกวงสี ในตอนกลางของประเทศเวียดนาม ฉายาเมื่อบวชแล้ว คือ ติช นัท ฮันห์ ซึ่งในเวียดนามคำว่า ติช เป็นคำเรียกพระ แปลว่า แห่งศากยะ คือ ผู้สืบทอดพุทธศาสนา และนัท ฮันห์ แปลว่า สติอยู่กับปัจจุบัน คือ การกระทำเพียงหนึ่ง ดังนั้น ติช นัท ฮันห์ จึงแปลว่า ผู้สืบทอดพุทธศาสนาอันสติอยู่กับปัจจุบัน
พระไพศาล วิศาโล กล่าวถึงท่าน ติช นัท ฮันท์ ในคอลัมน์มองอย่างพุทธ มติชนรายวัน 18/2 /2550 ว่า นอกจากองค์ทะไลลามะแล้ว ท่านติช นัท ฮันห์ เป็นภิกษุอีกรูปหนึ่ง ที่นิตยสารไทม์ ยกย่องให้เป็น ฮีโร่ หรือผู้มีผลงานอันโดดเด่นและเป็นแรงบันดาลใจให้แก่คนทั้งโลก หนังสือหลายเล่มของท่านติดอันดับหนังสือขายดี ทั้งในยุโรปและอเมริกา ( เพิ่มเติม )

การดำรงอยู่ของชีวิต เป็นความจริงที่ลึกลับปาฏิหาริย์ หลายคนอาจคิดว่าการเดินบนน้ำหรือบนอากาศ หรือการรอดชีวิตจากอุบัติเหตุเป็นเรื่องปาฏิหาริย์ แต่ท่านติช นัท ฮันห์ กล่าวว่า ปาฏิหาริย์ที่แท้จริง มิใช่การเดินบนน้ำหรือบนอากาศ หากแต่เป็นการเดินบนพื้นโลกอยู่กับความอัศจรรย์ทุกๆวัน เพราะการมีสติ เป็นสิ่งอัศจรรย์ตรงที่ช่วยให้เราเป็นนายของตนเอง และรักษาใจตนเองอยู่ได้ในทุกๆสถานการณ์
การมีสติไม่ได้มีแค่ตอนนั่งสมาธิเท่านั้น แต่มีในทุกอาการ เช่น ในการล้างจาน ถ้าเรามีสติ ก็ควรล้างจานอย่างเดียว ซึ่งหมายความว่า ขณะล้างจานเราก็ต้องรู้ตัวทั่วพร้อมว่าเรากำลังล้างจาน ดังตอนหนึ่งของหนังสือว่า
“ ครูกำลังยืนตรงนั้น และล้างถ้วยชามเหล่านั้นอยู่ เป็นความจริงที่ถือว่าเป็นความความอัศจรรย์ ครูเป็นตัวของตัวเองอย่างสมบูรณ์ ตามลมหายใจตลอดเวลา รู้ตัวพร้อมถึงปัจจุบันกาลของตนเอง รู้พร้อมทั้งมโนกรรม และวจีกรรมต่างๆ ไม่มีทางที่จะทำให้ใจของครูแกว่งไปแกว่งมาเหมือนขวดแกว่งบนยอดคลื่น ความสำนึกของครูไม่มีอะไรจะมาทำให้ไหวหวั่นได้ ดังฟองน้ำบนผิวคลื่นที่ซัดกระแทกกับหน้าผา “
ในกิจวัตรชีวิตประจำวัน เช่น การกิน การดื่ม การทำงาน ล้วนเป็นโอกาสแห่งการเจริญสติได้ ดังความตอนหนึ่งของหนังสือว่า
“ เมื่อเดินอยู่ ย่อมรู้ชัดว่าเราเดินอยู่ เมื่อยืนอยู่ ย่อมรู้ชัดว่าเรายืนอยู่ เมื่อนั่งอยู่ ย่อมรู้ชัดว่าเรานั่งอยู่ เมื่อนอนอยู่ ย่อมรู้ชัดว่าเรานอนอยู่ เราตั้งกายไว้ด้วยอาการใดๆ ย่อมรู้ถึงกายนั้น ด้วยอาการอย่างนั้นๆ ด้วยอาการนี้ที่เราเป็นผู้อยู่ด้วย สติมั่นคงเห็นกายในกาย “
แต่การมีสติรู้เท่าทันอาการต่างๆของกายนั้นยังไม่พอ เราต้องมีสติรู้พร้อมถึงลมหายใจแต่ละครั้ง การเคลื่อนไหวแต่ละหน ความคิดทุกความคิด และความรู้สึกทุกความรู้สึก นั่นคือ มีสติรู้ทั่วพร้อมถึงทุกสิ่งที่เนื่องกับตัวเรา
การนั่งสมาธิเพื่อให้เกิดสมาธิเพื่อให้เกิดสติ เป็นสิ่งยากที่คนทำงานทุกคนจะปฏิบัติได้ แต่สติสามารถทำให้เกิดในขณะทำงานได้ โดยท่านติช นัท ฮันห์ ได้แนะนำคือ การพุ่งความสนใจทั้งหมดไปที่งาน การตื่นตัวและพร้อมเสมอที่จะเผชิญกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นอย่างสามารถและมีไหวพริบ นี่คือความมีสติโดยแท้ ไม่มีเหตุผลใดที่การมีสติจะต่างไปจากพุ่งความสนใจทั้งหมดไปที่งานของตน ตื่นตัวอยู่เสมอ และพร้อมจะตัดสินใจอย่างดีที่สุด ในขณะของการปรึกษาหารือ การแก้ปัญหาและการจัดการกับปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น เราจะต้องมีหัวใจที่สงบและควบคุมตัวเองได้อย่างดี การงานนั้นๆ จึงจะได้รับผลเป็นที่พอใจ ถ้าเราอยู่ในภาวะที่ควบคุมตัวเองไม่ได้ ปล่อยให้ความไม่อดกลั้นและโทสะเข้าครอบงำงานขอบเราก็จะหมดความหมายไร้คุณค่าทันที
ดังนั้น การมีสติคือการมีชีวิต ช่วยให้เราปลอดจากความขี้หลง ขี้ลืม และความคิดฟุ้งซ่านต่างๆ สติช่วยให้การมีชีวิตทุกขณะจิตเป็นไปได้ ไม่ควรปล่อยตนเองให้หลงไปในความคิดฟุ้งซ่านและสิ่งแวดล้อมรอบตัว จงเรียนรู้วิธีฝึกลมหายใจ เพื่อจะได้คอยควบคุมจิตใจและร่างกายของเรา ฝึกสติ พัฒนาสมาธิและปัญญา
ในพระสูตรต่างๆ พระพุทธองค์มักจะทรงสอนให้ใช้ลมหายใจบำเพ็ญสติเสมอ มีพระสูตรที่ตรัสถึงการใช้ลมหายใจเพื่อฝึกสติเจริญสมาธิ โดยเฉพาะพระสูตรหนึ่ง คือ อานาปานสติสูตร ซึ่งท่านเคือง ต่ง ห่อย ได้แปลพระสูตรนี้ไว้ว่า อานาปานะ คือ ลมหายใจ สติ คือ ความรู้สึกตัวทั่ว จึงแปลว่า การคุ้มกันจิต ดังนั้น อานาปานสติสูตร คือ พระสูตรว่าด้วยการใช้ลมหายใจในการเจริญสติ หรือคุ้มกันรักษาจิต
การหายใจเป็นเครื่องมือตามธรรมชาติที่มีประสิทธิภาพสูงสุด ในการป้องกันความคิดฟุ้งซ่าน ลมหายใจเป็นสะพานเชื่อมระหว่างชีวิตและจิตสำนึก ทำให้ร่างกายและความคิดเป็นเอกภาพกัน หากเกิดความฟุ้งกระจายไป ควรใช้ลมหายใจ ในการรวมจิตเข้ามาอีกครั้งหนึ่ง เราไม่ควรปล่อยตนเองให้ลุ่มหลงไปในความคิดที่ฟุ้งซ่านและสิ่งแวดล้อมรอบตัว
การที่เราจะบังคับบัญชาจิตใจและทำความคิดให้สงบได้นั้น เราจะต้องเจริญสติที่จิตใจด้วย ไม่ใช่ที่ลมหายใจอย่างเดียว นั่นคือ ต้องฝึกสติมีสติให้รู้พร้อมถึงความรู้สึกต่างๆ ( เวทนานุปัสสนา ) และรู้พร้อมถึงความคิดต่างๆ ( จิตตานุปัสสนา ) ด้วย และเราต้องรู้วิธีสังเกต และรู้เท่าทันความรู้สึก ความคิดทุกๆอย่างที่เกิดขึ้นในจิตใจของเรา ดังคำกล่าวตอนหนึ่งในหนังสือว่า
“ ผู้ที่รู้จักวิธีหายใจ คือ ผู้ที่รู้จักวิธีสร้างเสริมพลังแห่งชีวิตที่ไม่สิ้นสุด การหายใจเสริมสร้างปอด และทำให้ระบบเลือดเข้มแข็ง และนำพลังแห่งชีวิตมาสู่อวัยวะส่วนต่างๆ กล่าวกันว่า การหายใจอย่างถูกต้องนั้นสำคัญกว่าอาหาร “
ดังนั้นจะต้องเจริญสติที่จิตใจด้วย ไม่ใช่ที่ลมหายใจอย่างเดียว คือ ต้องฝึกให้มีสติรู้พร้อมถึงความรู้สึกต่างๆ รู้พร้อมความคิดต่างๆด้วย ดังนั้นเราต้องรู้วิธีสังเกตและรู้เท่าทันความรู้สึกและความคิดทุกๆอย่างที่เกิดขึ้นภายในจิตใจของเรา เพื่อจะได้รู้เท่าทันความรู้สึกความคิดของเรา และในไม่ช้า เราก็จะบังคับบัญชาจิตใจของเราได้ และสามารถรวมเอาการมีสติ รู้ลมหายใจมาร่วมกับการฝึกสติ รู้ทันความรู้สึกและความคิดได้
ท่านอาจารย์ เซน เดื่อง เจียว เขียนไว้ว่า ถ้าผู้ปฏิบัติธรรมรู้จักจิตใจของตนเองอย่างถ่องแท้ ก็จะเข้าถึงธรรมโดยไม่ต้องใช้ความพยายามมาก แต่ถ้าไม่รู้จักจิตใจของตนเองเลย ความพยายามทั้งหมดของเขาก็จะสูญเปล่า มีหนทางเดียวเท่านั้นที่จะรู้จักจิตใจของเราเองได้ นั่นคือ การสังเกตและรู้เท่าทัน ทุกสิ่งทุกอย่างเกี่ยวกับจิตใจ และต้องฝึกปฏิบัติอยู่ตลอดเวลาทั้งในชีวิตประจำวัน และในเวลาของการฝึกสมาธิ
ท่านติช นัท ฮันห์ เปรียบกับจิตนั้นเหมือนกับลิงที่โหนตัวจากกิ่งไม้กิ่งหนึ่งไปยังอีกกิ่งหนึ่ง เพื่อไม่ให้ลิงนั้นคลาดสายตาเราไปได้ ขณะที่มันเคลื่อนที่ไป เราจะต้องจ้องมองมันอยู่ตลอดเวลา ให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
ผู้ปฏิบัติงานเพื่อสังคมควรจะฝึกสร้างพลังสมาธิให้ดี สร้างสรรค์ความสุขภายใน อันเกิดจากจิตที่สงบและแจ่มใส เพื่อลบล้างความกังวลทั้งหลายและได้รับการพักผ่อนที่สมบูรณ์ จากความสงบของจิตใจ ซึ่งจะทำให้เรารู้สึกสดชื่นแจ่มใส ทำให้โลกทัศน์และชีวทัศน์กว้างและชัดขึ้น และเพิ่มความรักในตนเองให้มากขึ้น การนั่งสมาธินั้นเป็นการบำรุงรักษาจิตใจและร่างกายพร้อมกันไป สมาธิทำให้เราสุขกาย เบาใจและสงบรำงับ
ท่านติช นัท ฮันห์ ยังสอนให้มองทุกอย่างอย่างเชื่อมโยงและสัมพันธ์กัน ไม่มีสิ่งใดที่จะอยู่แยกจากสิ่งอื่นได้ ดั่งตอนหนึ่งที่ว่า
“ บางทีเราอาจจะพูดได้ว่าเราจะมีชีวิตอยู่จริง มิใช่อยู่อย่างตายซาก ก็ต่อเมื่ออยู่อย่างเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตโลก ดังนั้น จงร่วมทุกข์ร่วมสุขกับเพื่อนมนุษย์ร่วมโลก ความทุกข์ของคนอื่นก็คือความทุกข์ของเรา ความสุขของคนอื่นก็คือความสุขของเรา “
การมีสติเพื่อให้ชีวิตเป็นหนึ่งของจักรวาล มีปรากฏการณ์ต่างๆมากมายดำรงอยู่ในชีวิตของเรา และตัวเราเองก็อยู่ในปรากฏการณ์ต่างๆ เรา คือ ชีวิต และชีวิตนั้นปราศจากขอบเขต บางทีเราอาจจะพูดได้ว่าเราจะมีชีวิตอยู่จริง ไม่ใช่อยู่อย่างตายซาก ก็ต่อเมื่ออยู่อย่างเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตโลก ดังนั้นร่วมทุกข์ร่วมสุขกับเพื่อนมนุษย์ร่วมโลก ความทุกข์ของคนอื่นก็คือความทุกข์ของเรา ความสุขของคนอื่นคือความสุขของเรา สามัญลักษณะของจักรวาลประกอบด้วย อนิจจังทุกขัง อนัตตา ความสำเร็จล้มเหลวของชีวิตไม่สามารถที่จะทำร้ายเราอีกต่อไป
การบำเพ็ญสมาธิเพื่อเข้าใจในเรื่องความเป็นเหตุปัจจัยของกันและกัน ต้องปฏิบัติอยู่เสมอ และเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตการงานของเราประจำวันด้วย ทำให้เรามองเห็นคนที่ยืนอยู่ตรงหน้าเราเป็นตัวเราเอง และเห็นว่าเราเองคือคนคนนั้นด้วย เราจะต้องสามารถมองเห็นขบวนการก่อกำเนิดซึ่งกันและกัน และเป็นเหตุปัจจัยซึ่งกันและกันของสรรพสิ่งเหตุการณ์ ทั้งที่เกิดขึ้นแล้วและจะเกิดขึ้นในอนาคต
และให้มองสรรพสิ่งชีวิตด้วยสายตาแห่งความรักและความเมตตา ซึ่งฝึกมองสรรพสิ่งมีชีวิต ด้วยสายตาของความรักและความเมตตา คือ การฝึกสมาธิที่เรียกว่า เมตตานุสติ การเจริญเมตตานุสตินั้น จะต้องทำทั้งในขณะชั่วโมงของการนั่งสมาธิ และในทุกขณะที่ทำงาน ไม่ว่าจะไปที่ไหน นั่งที่ไหน เราจะต้องดำรงชีวิตที่เป็นของเราเอง การงานเป็นเพียงส่วนหนึ่งของชีวิตเท่านั้น และงานคือชีวิตก็ต่อเมื่อเราทำงานนั้นด้วยสติเท่านั้น และชีวิตของเราเกี่ยวพันกับชีวิตบุคคลรอบๆเราด้วย หากเรารู้วิธีปกปักรักษา และระวังจิตใจและหฤทัยของเราเอง จะช่วยให้เพื่อมนุษย์รอบข้างเรา รู้จักการมีชีวิตอยู่อย่างมีสติ
ภายในครอบครัวหนึ่ง หากมีคนใดคนหนึ่งในครอบครัวฝึกการเจริญสติ คนอื่นๆในครอบครัวจะสามารถเจริญสติได้ด้วนการกระทำที่มีสติของคนคนนั้น จะเตือนคนทุกคนในครอบครัวให้ระลึกถึงความมีสติได้
และคนที่ทำงานเพื่อสังคม ซึ่งก็คือครอบครัวๆหนึ่ง เราไม่ต้องหวังว่าคนรอบตัวเราจะไม่ทำดีที่สุด ให้ห่วงตัวเองเพื่อทำตนเองให้มีคุณประโยชน์ก็เพียงพอ เพราะถ้าตัวเราทำดีที่สุด ก็จะช่วยเตือนเพื่อนๆรอบข้างให้ทำดีที่สุดด้วย

การเริ่มต้นฝึกสติอย่างง่าย
ควรหาเวลา 1 วันเป็นวันฝึกสติ เพื่อสร้างนิสัยในการฝึกสติ เริ่มจากการตื่นนอน ไปจนถึงเวลานอน และเป็นวันที่ควรจะยิ้ม ยิ้มเพื่อสร้างความมั่นใจว่ามีสติสมบูรณ์ ยิ้มซึ่งหล่อเลี้ยงความสมบูรณ์ของสติ ควรจะพูดให้น้อย พยายามประครองสติไว้ในทุกอิริยาบถ ตามลมหายใจและผ่อนคลาย คิดว่า ตัวเองกำลังอยู่แกนกลางของโลก ช้า สม่ำเสมอ โดยไม่พะวงถึงอนาคต มีชีวิตอยู่ในขณะแห่งความจริงนั้น เพราะขณะแห่งความจริงเท่านั้นที่เป็นชีวิตจริง อย่าพะวงกับสิ่งที่ยังมาไม่ถึง และอย่างกังวลถึงสิ่งที่ผ่านไปแล้ว อย่าคิดที่จะลุกขึ้นไปทำโน่นนี่ อย่าคิดถึง การจาก หลังจากฝึกสติเพียงสัปดาห์ละครั้ง วันแห่งสติจะเริ่มแผ่ไปสู่วันอื่นๆที่เหลือ
สำหรับผู้หัดใหม่ควรใช้วิธีสังเกตตามรู้เท่าทันอารมณ์ความรู้สึกต่างๆ โดยไม่ต้องให้คุณค่า ไม่ว่าจะมีความรู้สึกเมตตากรุณา หรือพยาบาทโกรธเคือง เราต้องรับความรู้สึกนั้นๆ อย่างเสมอภาคกัน เพราะความรู้สึกนั้น ต่างก็เป็นส่วนหนึ่งของเราด้วยกัน ฝึกสติให้รู้พร้อมถึงความรู้สึกต่างๆ และเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของสติและจิต พิจารณาความเป็นเหตุเป็นปัจจัยเกี่ยวพันซึ่งกันและกันของสรรพสิ่งของสิ่งมีชีวิตทั้งหมด เพื่อปลดปล่อยตัวเองออกจากความทุกข์
สำหรับผู้ปฏิบัติงานเพื่อสังคม นอกจากการมีเวลาของตนเองในหนึ่งสัปดาห์แล้ว ควรจะมีเวลาหนึ่งเดือนในหนึ่งปีอยู่กับสถานที่พักทางจิตวิญญาณ เพื่อฟื้นกำลังและเป็นฝึกสติ บำเพ็ญสมาธิ และสลัดความวิตกกังวลที่สร้างสมมา และให้ความเข้าใจและความรักเข้าไปแทนที่ และในหนังสือเล่มนี้มีแบบฝึกหัดสำหรับเจริญสติ 32 วิธีท้ายเล่ม แต่ผู้สรุปได้คัดเลือกบางวิธีที่เหมาะสำหรับผู้ฝึกใหม่ ดังนี้
1. การนอนราบหายใจ
เหมาะสำหรับผู้ฝึกใหม่ และสิ่งสำคัญคือ อย่าฝืน การใช้ความพยายามมากเกินไป จะเป็นอันตรายต่อปอด มี 2 วิธี คือ
1.1 วิธีตามลมหายใจ
1. ควรนอนราบกับพื้น ปล่อยแขนทั้งสองตามสบายข้างลำตัว ไม่ควรหนุนหมอนใดๆ
2. พุ่งความสนใจไปที่ลมหายใจออก ( ให้ลองดูว่านับได้ยาวเท่าไหร่ ) แล้วจึงลองยืดลมหายใจออก โดยนับช้าๆ ซึ่งจะช่วยให้ปอดได้รับอากาศมากขึ้น
3. พอหายใจออกสุด ก็ปล่อยให้ปอดสูบเอาอากาศบริสุทธิ์เข้าไปตามธรรมชาติ โดยไม่ต้องฝืนใดๆทั้งสิ้น ( ตามปกติลมหายใจเข้าสั้นกว่าลมหายใจออก ) ให้นับลมหายใจเข้าและออกอย่างสม่ำเสมอ และประครองสติตลอดเวลาที่หายใจเข้าและออก ( ควรฝึกแบบนี้หลายๆอาทิตย์ )
และควรจะนับลมหายใจอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นเวลาเดิน นั่ง หรือยืน และโดยเฉพาะเวลาออกนอกบ้าน ซึ่งเวลาเดิน ก็สามารถนับก้าวเดินเพื่อวัดความยาวของลมหายใจ ซึ่งหลังจากที่ฝึกได้นานประมาณ 1 เดือนแล้ว ความแตกต่างของความยาวลมหายใจเข้าและออกจะลดลง และเท่ากันในที่สุด แต่ก็ไม่ควรจะหายใจออกและเข้าเท่ากันนานเกินไป ควรจะประมาณ 10 – 20 ครั้ง
การนับตามลมหายใจอาจจะเปลี่ยนเป็นวลีที่เราชอบพูดแทนการนับก็ได้ เช่น ถ้าความยาวลมหายใจนับได้ 7 ก็อาจจะใช้วลีว่า มูล – นิ –ธิ –สาย – ใย – แผ่น – ดิน เป็นต้น หรือเวลาเดินให้ก้าวแต่ละก้าวพ้องกับคำๆหนึ่ง
1.2 วิธีนับลมหายใจ
1. หายใจออกนับ 1 หายใจออกนับ 1 หายใจออกนับ 2 หายใจเข้านับ 2 นับไปเรื่อยๆ จนถึง 10 แล้วกลับมานับ 1 ใหม่
ถ้านับผิด ก็เริ่มนับ 1 ใหม่ ไม่ควรโกรธตัวเอง พยายามจนนับได้ถูกต้อง ทันทีที่สามารถรวมสติอยู่ที่การนับได้ ก็จะมาถึงจุดที่เลิกนับได้ และมุ่งจิตไปยังการเข้าออกของลมหายใจเฉยๆ และลมหายใจควรจะเบา สม่ำเสมอ จนคนข้างๆ ไม่ได้ยินลมหายใจของเราและรู้ตัวพร้อมถึงเหตุการณ์ทุกๆอย่างที่เกิดขึ้นกับเรา
2. การนั่งสมาธิ
ท่านอนราบทำให้เผลอหลับได้ง่าย ผู้เขียนกล่าวว่าการฝึกสมาธิในท่านอนนั้น ทนสู้ท่านั่งไม่ได้ การนั่งสมาธิทำให้เราได้พักผ่อนอย่างสมบูรณ์แท้จริง โดยจะมีการนั่ง 2 ท่า คือ นั่งขัดสมาธิเพชร คือ เอาเท้าซ้ายวางบนต้นขาขวา แล้วเอาเท้าขวาวางลงบนต้นขาซ้าย และการนั่งขัดสมาธิดอกบัว คือ เอาเท้าซ้ายวางบนต้นขาขวา หรือเอาเท้าขวาวางบนต้นขาซ้ายเท่านั้น ซึ่งการนั่งทั้ง 2 แบบ จะต้องมีหมอนรองก้น เพื่อให้เข่าทั้ง 2 แตะพื้นการที่มี 3 ตำแหน่งของร่างกายแตะพื้นจะทำให้ท่านั่งมั่นคงที่สุด
ตั้งกายให้ตรง อันนี้สำคัญมาก คอและศีรษะควรจะอยู่ในแนวเดียวกับกระดูกไขสันหลัง ซึ่งควรจะตรงตลอด แต่มิใช่เกร็งจะทื่อเหมือนท่อนไม้ ทอดสายตาไปบนพื้นห่างออกไป 2 เมตร และยิ้มเล็กน้อยเสมอ
จากนั้นเริ่มตามลมหายใจและคลายกล้ามเนื้อทุกส่วน มุ่งใจไว้ที่การตั้งตัวให้ตรง และการตามลมหายใจเท่านั้น อย่างอื่นนอกนั้นปล่อยวางให้หมด ปล่อยวางทุกสิ่งทุกอย่าง ยิ้มเล็กน้อยยิ่งนานยิ่งดี
สำหรับผู้เริ่มใหม่ ควรจะนั่งไม่เกิน 20 – 30 นาที และวิธีที่จะได้รับการพักผ่อนเต็มที่ขึ้นอยู่กับ 2 สิ่ง คือ การเฝ้าตามและปล่อยวาง เฝ้าตามลมหายใจของเธอและปล่อยวางอย่างอื่นหมด คลายกล้ามเนื้อทุกส่วนในร่างกาย หลังจากนั่งสัก 15 นาที ก็เป็นไปได้ที่จะเข้าถึงความสงัดดันล้ำลึกที่เกิดจากความสงบและความสุขภายในดำรงความสงัดและความสงบนั้นไว้
3. ภาวนากับก้อนกรวด
สำหรับบางคนที่คิดว่าการนั่งสมาธิเป็นงานหนัก อาจใช้วิธีจินตนาการว่า ตนเป็นก้อนกรวดที่ถูกโยนลงในลำธาร เพื่อให้ได้พบความสุขความสงบจากการนั่ง
เริ่มจากการนั่งด้วยท่าที่ตัวเราคิดว่าสบายที่สุด ตั้งกายตรง ยิ้มน้อยๆ หายใจช้าๆ และลึกๆ ตามลมหายใจแต่ละครั้ง เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับลมหายใจ จากนั้นปล่อยวางทุกสิ่งทุกอย่าง แล้วจินตนาการว่าตัวเองเป็นก้อนกรวดก้อนหนึ่ง ซึ่งถูกโยนลงในลำธาร ก้อนกรวดก้อนนั้นจมดิ่งลงสู่เบื้องล่างอย่างว่าง่าย ไม่ยึดเหนี่ยวสิ่งใดเลย ค่อยๆ ดิ่งลงโดยระยะทางที่สั้นที่สุด และแล้วในที่สุดก็ถึงซึ่งท้องลำธาร อันเป็นจุดแห่งการพักผ่อนที่สมบูรณ์
ผู้ฝึกสมาธิก็เหมือนก้อนกรวดก้อนนั้น ปล่อยตัวเองจมดิ่งลงไปในลำธารปล่อยวางทุกสิ่งทุกอย่าง ใจกลางของชีวิตอยู่ที่ลมหายใจ โดยไม่จำเป็นต้องรู้ระยะเวลาที่ใช้ไป ก่อนที่จะจมดิ่งไปสู่จุดการพักผ่อนที่สมบูรณ์บนเตียงทรายสะอาดสะอ้านใต้ท้องธารนั้น นั่นแสดงว่าได้พบการพักผ่อนแล้ว

บทส่งท้ายที่คัดมาจากหนังสือ
เวลาที่เราอยู่ในสมาธินั้น ทั้งร่างกายและจิตใจของเราสามารถที่จะอยู่ในสภาวะสงบและผ่อนคลายเต็มที่ ซึ่งสภาวะแบบนี้ต่างกันโดยสิ้นเชิงจากสภาวะจิตที่อยู่ในอาการครึ่งหลับครึ่งตื่นขณะที่เราเคลิ้มๆ เพราะนั่นเป็นเหมือนเรานั่งอยู่ในถ้ำมืดมากกว่าการนั่งสมาธิ ซึ่งทำให้เรามีสติสมบูรณ์นั้น เราไม่เพียงแต่ได้พักผ่อนและมีความสุขเท่านั้น หากยังทำให้จิตของเราว่องไวและเบิกบาน ตื่นอยู่เสมอ
การภาวนาไม่ใช่การหนีโลก หากแต่เป็นการเผชิญกับความเป็นจริงของโลกด้วยจิตที่แจ่มใสเยือกเย็นต่างหาก ผู้บำเพ็ญสมาธิ เจริญสติทั้งหลายควรจะตื่นอยู่เสมอ เพราะถ้าหากไม่ตื่นอยู่เสมอ จิตก็จะตกอยู่ในภาวะฟุ้งซ่านและขี้หลงขี้ลืมไป เหมือนคนขับรถ ซึ่งถ้าไม่ตื่นอยู่เสมอก็ประสบอุบัติเหตุถึงชีวิตได้ง่ายๆ
ดังนั้น ควรจะตื่นเหมือนคนที่กำลังเดินอยู่บนไม้คานในที่สูง หากก้าวพลาดเพียงก้าวเดียวก็หมายถึงความตาย จึงควรจะเป็นเหมือนอัศวินในยุคศักดินาผู้เดินมือเปล่าฝ่าเข้าไปในดงดาบ เป็นเหมือนราชสีห์ที่ก้าวไปข้างหน้าช้าๆ ทีละก้าวๆ อย่างสุภาพ แต่มั่นคงองอาจ อยู่กับความไม่ประมาทชนิดนี้เท่านั้น จึงจะมีโอกาสเข้าถึงภาวะของการเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน อันสมบูรณ์
----------------------------------------------------
สิ่งที่ได้จากการอ่านหนังสือเรื่อง The Miracle of Being Awake
1. ได้รับความสุขจากการอ่านหนังสือเล่มนี้มากๆ ซึ่งตอนแรกเลือกอ่านเพียงเพราะอยากอ่านหนังสือแนวพุทธศาสนา เผื่อจะทำให้จิตใจที่ไม่นิ่ง มาสงบบ้าง และก็ได้ผลแม้จะเพียงเล็กน้อยก็ตาม แต่คาดว่าจะต้องเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิมอย่างแน่นอน
2. เมื่อได้อ่านหนังสือเล่มนี้แล้ว เมื่อยามที่มีปัญหาทั้งเรื่องของตัวเอง ครอบครัว ที่ทำงาน เพื่อน หรือคนที่เราไม่รู้จักที่อยู่อีกหลืบหนึ่งของโลก สิ่งที่ทำได้คือ ยิ้มน้อยๆ หลังจากเศร้าใจและผิดหวังจากคนรอบข้างหรือตัวเอง และกำลังอยู่ในระหว่างการฝึกที่จะมองทุกสิ่งทุกอย่างให้มีความเชื่อมโยงกับตัวเรา
3. ได้รู้คำตอบของพระจักรพรรดิที่ถามว่า เวลาไหนเป็นเวลาที่เหมาะสมที่สุดในการทำกิจแต่ละอย่าง ( ปัจจุบัน ) ใครคือคนสำคัญที่สุดที่ควรทำงานด้วย ( คนรอบข้างเรา ) และอะไรคือสิ่งที่สำคัญที่สุดที่ควรทำตลอดเวลา ( ลดความทุกข์ เพิ่มความสุข )
4. ได้รู้ ต้องบอกว่าได้รู้วิธี แนวทาง การเจริญสติเท่านั้น ซึ่ง ณ ตอนนี้ ยังทำไม่ได้แต่พยายามอยู่ เพื่อตัวเอง ครอบครัว งาน และสังคม
5. มีความพยายามที่จะไม่แบ่งเวลาให้กับตัวเอง กับครอบครัว กับงาน เพื่อจะได้มีเวลาอย่างไม่จำกัดเช่นเดียวกับสตีฟ

ไม่มีความคิดเห็น: