วันศุกร์ที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

เกษตรธรรมชาติ แนวคิด หลักการ และจุลินทรีย์ท้องถิ่น

เขียนโดย ดร.อานัฐ ตันโช

นายบัญชา แก้วเ

ศูนย์เกษตรอินทรีย์ยโสธร


พื้นฐานของเกษตรธรรมชาติ

กฏของธรรมชาติ

ธรรมชาติมีมานานแสนนานก่อนที่มนุษย์จะรู้จักทำการเกษตร แม้ว่ามนุษย์จะรู้จักใช้สารเคมีหรือไม่ก็ตาม หรือมนุษย์จะทำการเกษตรในระบบเกษตรธรรมชาติ การเกษตรทั้งสองก็ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขบทบาทของธรรมชาติทั้งนั้น ธรรมชาติเป็นสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ ทุกสิ่งบนโลกใบนี้มีหน้าที่และบทบาทเป็นของตัวเอง ทั้งสิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิต โดยอาศัยเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ดังนั้นการทำการเกษตรจึงควรเคารพกฏของธรรมชาติ ยอมรับในบทบาทของพืช สัตว์และสิ่งมีชีวิตทั้งหลายที่มนุษย์อาศัยพึ่งพา จึงจะทำให้มนุษย์และโลกใบนี้ดำรงต่อไปได้

กระบวนการผลิตแบบธรรมชาติ

สิ่งที่จำเป็นต่อการทำการเกษตรธรรมชาตินั้น คือ ความยืดหยุ่น การปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เพื่อค้นหาความเหมาะสมในการปฏิบัติ เกษตรกรจะมีความสุขกับการสังเกตที่เกิดขึ้น การเปลี่ยนไปของธรรมชาติและรู้วิธีปฏิบัติอย่างเหมาะสม กระบวนการผลิตแบบธรรมชาติจะไม่เน้นการฝืนธรรมชาติ เช่น การไถพลิกหน้าดินลึกๆ ด้วยเหตุผลที่ว่า พืชมีความแข็งแรงมากพอที่จะหยั่งรากลงดินได้ด้วยตัวของมันเอง

การทำการเกษตรแบบธรรมชาติมีศักยภาพเพียงพอทั้งในด้านการเจริญเติบโต การดำรงอยู่ การให้ผลผลิตที่เพียงพอต่อความต้องการของผู้ผลิตและผู้บริโภค

มนุษย์ต้องคำนึงถึงการสังเกตุ การตัดสินใจของมนุษย์ไม่ใข้จุดเริ่มต้นของกระบวนการผลิต มนุษย์ต้องทำการเกษตรให้กลมกลืนกับธรรมชาติให้มากที่สุด

สิ่งมีชีวิตต่างๆจะช่วยเหลือกันเอง และช่วยเหลือตัวมันเองก่อน เกษตรกรควรดูแลให้ความช่วยเหลือสิ่งมีชีวิต และมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด ไม่ควรรีดไถตักตวงประโยชน์จากพืชและสัตว์มากเกินไป การหมั่นสังเกตปัญหาที่เกิดกับสัตว์เลี้ยง พืชที่ปลูก เช่น ถ้ามีแมลงมารบกวนเกษตรกรควรแก้ปัญหาโดยการกำจัดตัวอ่อนของแมลงเพื่อเป็นการตัดวงจรของแมลงศัตรูพืช การกำจัดวัชพืชตามแนวทางของเกษตรธรรมชาติจะเน้นไปที่การตัดวงจรของวัชพืช เช่น การทำลายวัชพืชที่ยังไม่ติดดอกติดเมล็ดเป็นการกำจัดวัชพืชที่ต้นเหตุและเป็นการกำจัดวัชพืชระยะยาว

เกษตรสมัยใหม่ไม่มีความเชื่อเกี่ยวพลังชีวิตของพืชและสัตว์ เกษตรกรไม่ยอมให้สัตว์เลี้ยงตัวของมันเอง การแทรกแซงมากเกินไปทำให้สัตว์อ่อนแอ และเป็นการเหน็ดเหนื่อยสำหรับเกษตรกรเอง ซึ่งเป็นการเริ่มต้นทุนโดยการเปล่าประโยชน์

จุดเด่นของเกษตรธรรมชาติ

เกษตรธรรมชาติเป็นมากกว่าคำว่าเทคนิคการเกษตรทั่วไป เกษตรธรรมชาติเน้นให้เกษตรกร

ลดต้นทุน และแนววิถีชีวิตอย่างยั่งยืนมีเหตุผลและองค์ประกอบดังนี้

- เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

- ผลผลิตเพิ่มขึ้น

- ช่วยลดต้นทุนการผลิต

- คุณภาพของผลผลิตดีขึ้น

- สามารถทำการเกษตรธรรมชาติได้หลากหลาย โดยมีวิธีการทำที่แตกต่างในแต่ละท้องถิ่น

- เกษตรธรรมชาติเป็นมิตรกับเกษตรกร

- มีความใส่ใจและให้ความสำคัญกับสิ่งมีชีวิต

ทฤษฎีเกษตรธรรมชาติ

การใช้พลังธรรมชาติ

การใช้สารอาหารที่สะสมอยู่ในเมล็ดพืช เมล็ดพืชทุกชนิดมีใบเลี้ยงที่ใช้สะสมอาหาร ใบเลี้ยงจะเป็นแหล่งสะสมธาตุอาหารมาตั้งแต่เป็นฝักเป็นเมล็ด ธาตุอาหารในเมล็ดเป็นสิ่งจำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืช เพราะฉะนั้นจึงไม่จำเป็นจะต้องใช้ปุ๋ยมาใส่ทดแทนธาตุอาหารในเมล็ดพืชอีก

การใช้จุลินทรีย์ท้องถิ่น ( IMO )

การทำเกษตรธรรมชาติโดยทั่วไปจะมีการนำจุลินทรีย์มาใช้ในการเกษตร มีข้อแตกต่างจากการทำเกษตรทั่วไป เกษตรธรรมชาติมีข้อจำกัดให้ใช้เฉพาะจุลินทรีย์ท้องถิ่นตัวเอง ซึ่งมีความปลอดภัย หาง่าย มีประสิทธิภาพสูง เกษตรธรรมชาติไม่เห็นด้วยที่เกษตรกรหาซื้อหัวเชื้อจุลินทรีย์มาใช้ในฟาร์มตัวเอง จุลินทรีย์เหล่านี้อาจมีประสิทธิภาพไม่เพียงพอและอาจจะไม่ปลอดภัยกับเกษตรกรด้วย

จุลินทรีย์ท้องถิ่นหาได้ง่ายใกล้ตัว ฟาร์มเก็บรักษาง่ายมีประโยชน์มากสามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดีอีกด้วย

ประโยชน์สูงสุดจากธรรมชาติ

เกษตรธรรมชาติเน้นการลดต้นทุนในการผลิตและผลิตวัสดุที่มีของธรรมชาติในท้องถิ่นใช้เองในฟาร์ม ซึ่งจะมีความปลอดภัย เช่น ปุ๋ยหมัก น้ำ แสงแดด จุลินทรีย์ เป็นต้น

ไม่ใช้ปุ๋ยเคมี

การใช้ปุ๋ยเคมีหรือสารสังเคราะห์ต่างๆ ใส่ลงในไปในดินเพื่อทดแทนหรือเพิ่มธาตุอาหารลงในดิน จะเป็นผลเสียกับพืชและสภาพแวดล้อมระบบนิเวศน์อย่างมาก พืชจะมีความอ่อนแอมากขึ้น จะไม่ยอมหาอาหารเองตามธรรมชาติ เพราะจะคอยรับเฉพาะอาหารจากปุ๋ยเคมีเท่านั้น ดินจะเสื่อม เริ่มมีความแข็งกระด้าง ดินจะไม่ปลดปล่อยธาตุอาหารให้พืชได้กิน จุลินทรีย์จะขาดการทำงานและจะค่อยๆล้มตายในที่สุด ดังนั้นเกษตรธรรมชาติจึงไม่ใช้ปุ๋ยเคมีสารสังเคราะห์กับฟาร์มตัวเอง เพราะเป็นการปิดกั้นศักยภาพของดิน พืช สัตว์ จุลินทรีย์ ระบบนิเวศน์โดยรวมด้วย

ไม่ไถพรวน

การไถพรวนดินในการทำเกษตรธรรมชาติจะไม่นิยมทำเพราะถือว่าจะทำให้พืชไม่สามารถแสดงศักยภาพการเจริญเติบโตของรากพืชได้อย่างเต็มที่ พืชจะมีนิสัยอ่อนแอลง

ดังนั้นเกษตรธรรมชาติไม่มีความจำเป็นต้องไถพรวนพลิกหน้าดิน จะปล่อยให้กลไกธรรมชาติช่วยไถพรวนเอง เช่น ใส้เดือน ตัวตุ่น จุลินทรีย์ การเข้ามาของพวกเขาเหล่านี้จะช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างภายใน 3 – 5 ปี

ไม่ใช้สารเคมีกำจัดวัชพืช

วัชพืชเป็นปัญหาสำหรับการทำเกษตรทุกระบบสำหรับเกษตรธรรมชาติมีเทคนิคที่เหมาะสมในการควบคุมวัชพืชด้วย เช่น

- การไม่ไถพรวน การไม่ไถพรวนจะเป็นการช่วยไม่ให้เมล็ดวัชพืชฝังลึกอยู่ในดินกลับขึ้นมาผิวดิน

- การคลุมดิน การคลุมดินเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยลดการงอกของวัชพืชบนผิวดิน และยังช่วยรักษาความชื้นในดินอย่างดีด้วย

ทำฟาร์มเลี้ยงสัตว์โดยไม่มีน้ำเสียออกจากฟาร์ม

การทำเกษตรธรรมชาติจะกำจัดของเสียจากสัตว์ เช่น มูลสัตว์ มาทำเป็นปุ๋ยหมักโดยผ่านการหมัก ผ่านกระบวนการทางจุลินทรีย์ย่อยสลาย แล้วจะกับมาใช้ใหม่ในฟาร์ม ซึ่งเป็นการหมุนเวียนการใช้ทรัพยากรในการผลิตอย่างคุ้มค่าที่สุด

หว่านเมล็ดน้อยลงแต่ได้ผลผลิตมากขึ้น

ในการทำเกษรตรธรรมชาติจะเน้นปัจจัยการผลิตจากธรรมชาติ เช่น แสงแดด อากาศ การปลูกพืชที่มีความถี่น้อยลงจะทำให้พืชได้รับแสงแดดที่เพียงพอไม่มีการแย่งอาหาร

หลักการวัฏจักรธาตุอาหาร

พืชที่เราปลูกโดยทั่วไปตามศักยภาพของสิ่งมีชีวิตจะมีสัญชาตญาณในการหาเลี้ยงชีพด้วยตัวมันเอง พืช ผัก สัตว์ที่เราเลี้ยงก็เช่นกัน มนุษย์มักเข้าใจผิดเสมอว่าการที่เอาปุ๋ยเคมีหรือปุ๋ยอย่างอื่นปริมาณมากๆเกินปริมาณใส่ให้กับพวกเขาเหล่านั้น จะทำให้พืชผลการเกษตรออกงามและให้ผลผลิตที่มากตามความต้องการ แต่แท้จริงแล้วพืช สัตว์มีความสามารถที่จะหาอาหารที่จำเป็นและค่อนข้างจะเพียงพอต่อความต้องการตัวมันเอง บางช่วงอาจต้องการธาตุอาหารตัวหนึ่ง แต่บางช่วงก็ต้องการธาตุอาหารอีกตัวหนึ่งไม่เหมือนกัน ดังนั้นวัฏจักรธาตุอาหารจึงมีความสำคัญที่ไม่ควรมองข้ามในการทำเกษตรธรรมชาติเลยทีเดียว

ธาตุอาหารพืช 5 ชนิด

ในการทำเกษตรทั่วไป จะมีการใช้ธาตุอาหารหลัก 3 ชนิด ได้แก่ธาตุไนโตรเจน ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม แต่เกษตรธรรมชาติจะเพิ่มอีก 2 ชนิด คือ แคลเซียมและเกลือทะเล ซึ่งธาตุอาหาร 2 ชนิดนี้ มีคุณสมบัติเพื่อเพิ่มคุณภาพของผลผลิตพืช เช่น มีความหวาน กรอบ กลิ่นดีตรงตามลักษณะประจำพันธุ์ สีสด ลักษณะผลผลิตดี ไม่บิดเบี้ยว เป็นต้น

ปัจจัยการผลิตและเครื่องมือในการทำเกษตรธรรมชาติ

จุลินทรีย์ท้องถิ่น

จุลินทรีย์ดั้งเดิมในท้องถิ่น การทำเกษตรธรรมชาติจะไม่ยอมรับการนำจุลินทรีย์ที่ผลิตเพื่อเป็นการค้ามาใช้ในการผลิต เนื่องจากมีความอ่อนแอ ไม่ทนทานต่อสภาพแวดล้อม มีการปรับตัวน้อย ไม่มีประสิทธิภาพ

การใช้จุลินทรีย์ท้องถิ่น มาใช้กับกระบวนการผลิตทางการเกษตร จะทำให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์เร็ว มีความหลากหลายของมวลชีวภาพทั้งสิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิต ทั้งจุลินทรีย์ท้องถิ่นมีความหลากหลายสายพันธุ์ มีความแข็งแรง มีการปรับตัวต่อสภาพแวดล้อมที่ดีเลวร้ายอยู่ตลอดเวลา

จุลินทรีย์ทำหน้าที่ในการย่อยสลายวัสดุต่างๆให้เป็นธาตุอาหาร เพื่อให้พืชนำกลับมาใช้ใหม่ในกระบวนการทางธรรมชาติ ซึ่งจุลินทรีย์มีหน้าที่หลัก 2 ประการ คือ

1. ทำหน้าที่ย่อยสลาย

2. ทำหน้าที่เปลี่ยนแปลงสารประกอบอินทรีย์ที่มีโครงสร้างซับซ้อน จุลินทรีย์ธรรมชาติ พบมากในป่าไผ่ และบนใบไม้ในป่า การสังเกตจุลินทรีย์ในป่าทำได้โดยง่าย คือ บริเวณที่มีใบไม้ทับถมกันหนา จะพบราสีขาวขึ้นมาก พบตามใบไผ่ ป่าไผ่ ดังนั้น การทำเกษตรธรรมชาติ จึงมีเทคนิคการทำจุลินทรีย์ว่าใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย เช่น ทำน้ำหมักจากพืชสีเขียว ใช้ทำปุ๋ยหมัก ใช้กับปศุสัตว์ แต่อย่างไรก็ตามการใช้จุลินทรีย์ให้มีประสิทธิภาพ เกษตรกรต้องใช้อย่างต่อเนื่องและหมั่นเก็บและรวบรวมจุลินทรีย์จากท้องถิ่นใกล้ตัวมาใช้ เพื่อลดความแข็งกระด้างและมีประสิทธิภาพของจุลินทรีย์อยู่ตลอดเวลา

การเก็บรวบรวมจุลินทรีย์ท้องถิ่น

เทคนิคเกษตรธรรมชาติมีวิธีการเก็บรวบรวมจุลินทรีย์ท้องถิ่นหลายวิธี ทั้งเก็บจากป่า จากภูเขา หุบเขา เชิงเขา โดยวิธีที่ง่ายที่นิยมเก็บจุลินทรีย์ คือ

· จากบริเวณป่าโดยใช้ข้าวสุก

· จากใบไม้ในป่า

· จากปล้องไม้ไผ่

· จากตอซังข้าว

การเพิ่มปริมาณจุลินทรีย์ท้องถิ่นทำได้หลายวิธี โดยการใช้รำละเอียดเป็นตัวขยาย และการเพาะเลี้ยงจุลินทรีย์ในอาหารเหลว

น้ำหมักพืชสีเขียว

น้ำหมักพืชสีเขียวประกอบด้วย น้ำเลี้ยงในลำต้นพืช คลอโรฟิวล์ ไฟเบอร์ จุลินทรีย์และยีสต์ ซึ่งเป็นสารกระตุ้นการเจริญเติบโตของพืชและสัตว์

การใช้พืชในการหมักน้ำหมักจากพืชสีเขียว พืชทุกชนิดสามารถนำมาทำเป็นน้ำหมักจากพืชสีเขียวได้ทั้งสิ้น แต่ควรคัดเลือกพืชที่มีความเหมาะสมกับท้องถิ่นหรือใช้กับพืชที่เราปลูกได้ เช่น มีความต้านทานต่อโรค หาได้ง่าย แข็งแรง มีในฤดูกาลนั้น โดยการคัดเลือกพืชที่จะนำมาทำน้ำหมัก ควรจะเลือกวันที่ไม่มีแดดจัด หรือฝนตก ควรเก็บพืชที่จะทำก่อนพระอาทิตย์ขึ้น ซึ่งควรเป็นพืชที่มีอยู่ในท้องถิ่น และเลือกเก็บส่วนยอดของพืชมาทำน้ำหมัก

น้ำหมักสมุนไพร

เกษตรธรรมชาติทำการเกษตรโดยไม่ใช้สารเคมี การระบาดของแมลงศัตรูพืชที่มารบกวนพืชผักย่อมเป็นเรื่องธรรมดา เทคนิคการไล่แมลงของเกษตรธรรมชาติ คือ การนำสมุนไพรที่มีรสขม ฝาด กลิ่นฉุนมาสกัดหรือหมัก เพื่อทำเป็นสารไล่แมลงศัตรูพืช เกษตรกรอาจหาได้ง่ายโดยประยุกต์ใช้พืชท้องถิ่น เช่น สะเดา ข่า ตะไคร้หอม บอระเพ็ด ขิง พริก กระเทียม เป็นต้น ประโยชน์ของน้ำหมักสมุนไพร ดังนี้

1. ช่วยป้องกันแมลง ยับยั้งแบคทีเรียที่เป็นศัตรูพืช

2. ช่วยรักษาโรคพืชที่เกิดจากแบคทีเรียและไวรัส

3. บำรุงต้นพืช รากพืชและลำต้นให้แข็งแรง

4. ช่วยในการติดดอกออกผลของพืช

5. บำรุง เพิ่มขนาด และคุณภาพของผลผลิต

น้ำหมักแบคทีเรียกลุ่มผลิตกรดแลคติก

แบคทีเรียกลุ่มผลิตกรดแลคติกส่วนมากเป็นกลุ่มที่ไม่ต้องการออกซิเจน พบมากในน้ำซาวข้าว น้ำนม กลุ่มแบคทีเรียที่ผลิตกรดแลคติกจะช่วยในการเจริญเติบโตของผลไม้พืชผักกินใบ และทนทานต่อโรคมากขึ้น

เมื่อใช้น้ำหมักจากแบคทีเรียที่ผลิตกรดแลคติกผสมในการทำปุ๋ยหมัก เพราะกรดแลคติคช่วยป้องกันการเสื่อมสภาพของปุ๋ยหมักได้ ใช้น้ำหมักผลิตกรดแลคติกผสมเจือจางให้สัตว์กิน จะช่วยให้ระบบยอ่ยของสัตว์ดีขึ้น กรดแลคติกจะช่วยเพิ่มขนาดของผลไม้ ใบพืชที่ปลูกได้

น้ำหมักจากปลา

กรดอะมิโนเป็นสารที่อุดมไปด้วยธาตุไนโตรเจนเป็นของเหลวที่ได้จากการหมักซากปลา ซึ่งกรดอะมิโนมีความสำคัญต่อพืชผัก ทำให้ผักใบมาความเจริญเติบเติทั้งลำต้นและใบ

น้ำหมักแคลเซียม

น้ำหมักแคลเซียมได้จากเปลือกไข่ไก่ ปู และกุ้ง น้ำหมักแคลเซียมจะใช้ได้ดีในขณะที่พืชกำลังติดผล น้ำหมักแคลเซียมจะช่วยเพิ่มความหวานให้กับผลไม้ คุณภาพผลไม้มีขนาดใหญ่ และให้ผลผลิตสูง สามารถใช้ได้กับสวนผลไม้ทุกชนิด

น้ำหมักจากข้าวกล้อง

น้ำหมักจากข้าวกล้องช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตลำต้นและใบของพืช ช่วยให้พืชมีความแข็งแรงทนทานต่อโรคได้ดีขึ้น

เทคนิคปฏิบัติในการทำเกษตรธรรมชาติ

เทคนิคเกษตรธรรมชาติ จะเน้นการใช้พลังธรรมชาติหรือสิ่งมีชีวิต เช่น พลังจากเมล็ดพืชที่ปลูก จุลินทรีย์ทำหน้าที่อย่างขยันขันแข็งในการย่อยสลายซากพืช ซากสัตว์ให้คืนสู่ธรรมชาติ ให้มีความอุดมสมบูรณ์มากยิ่งขั้น เกษตรธรรมชาติไม่เน้นการแทรกแซงกระบวนการผลิตของธรรมชาติ เช่น การไถพลิกหน้าดิน การเผาเศษฟาง เกษตรธรรมชาติจะเน้นการบำรุงด้วยจุลินทรีย์ท้องถิ่น การคลุมดินด้วยฟาง ด้วยหญ้า ร่วมกับการใช้น้ำหวานสูตรต่างๆ เพื่อให้ธรรมชาติและสภาพแวดล้อมกลับมาอุดมสมบูรณ์มาความหลากหลายต่อไป

การเลี้ยงสัตว์

แนวคิดการเลี้ยงสัตว์ในการทำเกษตรธรรมชาติ จะแตกต่างจากการเลี้ยงสัตว์แบบระบบเกษตรแบบสมัยใหม่อย่างสิ้นเชิง

การเลี้ยงสัตว์แบบธรรมชาติ เน้นให้สัตว์มีสุขภาพดี แข็งแรง ประหยัด ลงทุนน้อย กลิ่นไม่เหม็น ผลผลิตที่ได้มีคุณภาพ รวมทั้งการใช้ประโยชน์ พืชผัก หญ้าสดที่มีในท้องถิ่นหาได้ง่าย การใช้ประโยชน์จากมูลสัตว์ที่อุดมไปด้วยจุลินทรีย์เพื่อใช้เป็นปุ๋ยสำหรับพืชผักผลไม้ รวมถึงการมีมนุษยธรรมชาติกับสัตว์เลี้ยงที่เกษตรกรเลี้ยง เกษตรธรรมชาติจะมุ่งเน้นการเลี้ยงแบบไม่ทารุณ รีดไถ มุ่งเน้นที่จะเอาแต่ผลผลิตกับสัตว์เลี้ยงอย่างเดียว เกษตรธรรมชาติมุ่งเน้นการเลี้ยงแบบพึ่งพาอาศัยศักยภาพพลังชีวิตของสัตว์เลี้ยงเหล่านั้นให้มากที่สุด โดยการดูแลอย่างใกล้ชิดของเกษตรกรด้วย

ดังนั้นแนวคิดการเลี้ยงสัตว์แบบเกษตรธรรมชาติจึงสอดคลัองกับวิถีชีวิตของเกษตรกร ชาวไร่ ชาวนา การเลี้ยงแบบไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม สร้างรายได้ให้ความเพลิดเพลินและเป็นกระบวนการเรียนรู้อยู่ตลอดเวลาด้วย

-----------------------------------------------------------------------------------

สิ่งที่ได้จากการอ่านหนังสือเล่มนี้

หนังสือเกษตรธรรมชาติ แนวคิด หลักการ และจุลินทรีย์ท้องถิ่น เป็นหนังสือที่เล่าถึงการเคารพธรรมชาติ เคารพศักยภาพของสิ่งมีชีวิตทั้งที่มองเห็นและมองไม่เห็น การทำเกษตรธรรมชาติเป็นการเรียนรู้ ศึกษาทดลอง องค์ประกอบความหลากหลายทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรอบๆตัวเรา

การประยุกต์ใช้วัสดุที่มีอยู่ในท้องถิ่นเกิดประโยชน์สูงสุด ส่งผลให้มีกระบวนการผลิตที่มีต้นทุนต่ำ แต่มีคุณภาพดี

มีการคิดค้นเทคนิคเพื่อใช้ในการเกษตรไม่ว่าจะเป็นการปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ เช่น การทำน้ำหมักจากพืชสีเขียว การเก็บจุลินทรีย์ท้องถิ่น การผลิตสารบำรุงพืชสูตรต่างๆที่ได้จากธรรมชาติ การเลี้ยงสัตว์ในระบบแบบต้นทุนต่ำและเกื้อกูลกับธรรมชาติในฟาร์ม

เทคนิคและกระบวนการเหล่านี้ เป็นเทคนิคกระบวนการที่สามารถสร้างอาหาร สร้างรายได้ สร้างความรู้ได้กับเกษตรกรอย่างยั่งยืนตลอดไป ตลอดจนสร้างและรักษาสิ่งแวดล้อมที่ดีให้อยู่คู่กับโลกใบนี้อีกนานแสนนาน

ไม่มีความคิดเห็น: