วันอังคารที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2552

เดินสู่อิสรภาพ


ผู้เขียน อาจารย์ประมวล เพ็งจันทร์
จำนวน 504 หน้า

อำนาจ หวานล้ำ
แม่ทา จ.เชียงใหม่
สุวนศาสตร์ ก้อนบัว
ศูนย์เกษตรอินทรีย์ จ.ยโสธร

เนื้อหาหนังสือเป็นการบอกกล่าวถึงการเดินทางด้วยเท้าและเรื่องราวระหว่างทางที่ได้พบเจอตั้งแต่เริ่มออกเดินทางจากเชียงใหม่ จนถึงเกาะสมุย ซึ่งเป็นบ้านเกิด บนเส้นทางที่ได้ก้าวเดินได้สอดแทรกความคิดในเชิงปรัชญาชีวิต มิตรภาพที่ได้พบเจอ โดยมีวัตถุประสงค์ของการเดินทางด้วยเท้าคือ ต้องการให้การเดินทางเป็นไปอย่างช้าๆ เพื่อเก็บรายละเอียดระหว่างทางให้มากที่สุด ในขณะที่การเดินทางด้วยความเร็วของยานพาหนะไม่สามารถทำได้ ภายใต้เงื่อนไขของการเดินทางคือ
1) ไม่ถือเงินติดตัว เพราะการมีเงินทำให้ค่าและอำนาจของเงิน บดบัง ปกปิดคุณค่าและอำนาจของมนุษยธรรม ที่มีอยู่ในตัวเองและเพื่อนมนุษย์ที่ผ่านพบ
2) ไม่เดินไปหาคนรู้จัก ทั้งนี้ก็เพราะการรู้จักกันอยู่ก่อนแล้ว ทำให้สูญเสียโอกาสในการสร้างมิตรภาพใหม่
3) การไม่มีการวางแผนการเดินทางล่วงหน้า ไม่ว่าจะเดินทางถึงที่ไหนเมือไหร่ เนื่องจากต้องการเข้าไปสู่ความไม่แน่นอน และความไม่แน่นอนนี่แหละคือบทเรียนอันประเสริฐที่ปรารถนาจะเรียนรู้
4) ไม่เรียกร้องโอดครวญให้เพื่อนมนุษย์เห็นใจสงสาร เพราะการทำเช่นนั้น อาจจะเป็นการบีบคั้นให้เพื่อนมนุษย์ต้องให้ความช่วยเหลือ โดยที่เขาอาจจะไม่มีความสุขกับการช่วยเหลือ
5) ไม่ทำในสิ่งที่ พิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นการกระทำที่เกิดจากอำนาจของความโลภ ความโกรธ และความหลงที่มีอยู่ภายในจิตของตนเอง
------------------------------
.......
"ผมจะเดินกลับบ้าน"
นี่คือคำตอบในวันปิดห้องเรียน และประกาศยุติบทบาทหน้าที่ของครูสอนปรัชญาของชายผมหงอกขาว ผิวเข้ม วัยครึ่งร้อย ด้วยแววตาอัน "แน่วแน่และมั่นคง" เมื่อลูกศิษย์ถามว่า "อาจารย์จะทำอะไรต่อไปหลังจากลาออกจากราชการ?" คำตอบของอาจารย์ทำให้เกิดความวิตกสงสัยขึ้นในใจของพวกเรา ทำไมถึงละทิ้งความมั่นคงก้าวหน้าและฐานะของความเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย แล้วตัดสินใจออกเดินทางเพื่อไปเผชิญกับความยากลำบากและความไม่แน่นอน นี่คือผู้ชายที่พวกเราเรียกวเขาว่า "อาจารย์ประมวล"....
“บุญญฤทธิ์”
ความประทับใจ ในขณะที่กำลังเดินอยู่ในถนนเพชรเกษม จากประจอบคีรีขันธ์สู่ทับสะแกนั้นผมได้พบสองสามีภรรยาคู่หนึ่งซึ้งเป็นคนเก็บขวดน้ำเก่าขาย
“จะไปไหน” ผู้ชายส่งเสียงถามด้วยรอยยิ้ม
“ไปสุราษฎธานี” ผมตอบขณะที่เดินเข้าไปไกล้เขา
บทสนทนาระหว่างหญิงชายคู่นั้นกับชายพเนจรเริ่มต้นอย่างไงๆ ไปไหน? มาจากไหน? ทำไมจึงเดิน? เหนื่อยไหม? กินอย่างไร? นอนที่ไหน? ฯลฯ เป็นคำถามที่ง่ายๆและตรงไปตรงมาตามด้วยคำถาม “กินข้าวเที่ยงหรือยัง”? “กินตอนเช้าแล้ว วันหนึ่งได้กินมื้อเดียวก็พอแล้ว ไม่ต้องกินมากแค่พอมีชีวิตอยู่ได้” “ถ้าลงไม่รังเกียจ ก็ไปกินข้าวเราจะเลี้ยง” ผู้ชายพูดขึ้นแล้วแล้วเชิญชวนให้ผมขึ้นรถซาเล้งขอว่เขา “พ่อ...เพราะวันนี้เป็นวันพระที่เราถือศีลกินเจ เราจึงมีบุญได้พบลุงและได้ให้อาหารลุงแก่” เมื่อทานอาหารเสร็จแล้วผมจึงขอทีอยู่เพื่อจะได้ส่งจดหมายหรืออะไรให้เขาได้แต่พอรับสมุดที่ส่งให้เขาจดปรากฏว่ามีแต่ชื่อแต่ไม่มีที่อยู่ “ผมขอที่อยู่ด้วยได้ไหมจะได้ติดต่อทางไปรษณีย์” สองสามีภรรยารับสมุดไปแล้วปรึกษากันว่าจะเขียนที่อยู่อย่างไรเพราะที่บ้านของเขาไม่มีเลขที่บ้าน
ผมรับสมุดคืนมา แล้วมองดูที่อยู่ทางไปรษณีย์ที่สองสามีภรรยาเขียนให้ ขณะที่เห็นที่อยู่ 2 ที่ ทำให้ผมรู้สึกตื้นตันอย่างบอกไม่ถูก ทำไมตำแหน่งแห่งหนของบุคคลผู้งดงามเช่นนี้จึงไร้ที่ไร้ทางให้ติดต่อ โลกใบนี้ สังคมนี้ ช่างไม่ ช่างไม่มีที่ไม่มีทางให้บุคคลผู้งดงามเช่นนี้เลยเชียวหรือ.....?
……………………………………

(คำกล่าวนำ "จากใจลูกศิษย์")
.......
ผมกำลังเดินไปเพื่อเรียนรู้จากบุคคลที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน ทุกเพศ ทุกวัย ทุกสาขาอาชีพ ทุกๆ ภูมิภาคของสังคมไทย ก่อนที่จะเดินกลับถึงบ้านเกิดที่เกาะสมุย สุราษฎร์ธานี
ทุกๆ ท่านที่ผมได้พบและสนทนาด้วย คือ "ครู" ของผม
เมื่อผมเดินทางถึงเป้าหมายแล้ว ผมจะใช้ความรู้ที่ได้เรียนรู้จากครูของผมให้เกิดประโยชน์สุขแด่มวลมนุษย์และสรรพสัตว์ตลอดช่วงชีวิตที่ยังเหลืออยู่ของผม

(หน้า 61 ตอนฝึกหัดเดิน)
.......
สายฝนเริ่มโปรยปรายลงมา เมื่อเดินไปถึงบริเวณลานบ้าน ที่บ้านเงียบสงบ ไม่มีใครอยู่บ้านเลย พ่อ-แม่ เสียชีวิตไปแล้ว พ่อเสียชีวิตไปก่อนหลายปี แม่เพิ่งเสียชีวิตได้ปีเศษๆ
ผมก้าวไปยังจุดที่ซึ่งอดีตเคยเป็นส่วนที่ตั้งบันไดขึ้นบ้าน แต่ปัจจุบันได้ปรับเปลี่ยนบันไดไปอยู่ด้านอื่น
ทรุดกายลงนั่งคุกเข่า ณ จุดที่เคยเป็นบันไดขึ้นบ้าน เสียงหอกระจายข่าวของหมู่บ้านบอกเวลา 7 นาฬิกา
ปลดกระเป๋าสะพายหลังออกมาวางข้างตัว ล้วงหยิบเอาผ้าเช็ดหน้าสีกลัก ซึ่งใช้ห่อดินอันเป็นวัตถุมงคล ที่พกติดตัวตลอดมาชั่วระยะเวลาถึง 30 กว่าปี ออกมาจากกระเป๋า
คลี่ผ้าเช็ดหน้าออก เททรายทั้งหมดที่มีอยู่ลงบนฝ่ามือขวา กำขึ้นมาแนบอก ยกมือซ้ายทาบลงบนหลังมือขวา ใช้แรงที่มีอยู่กดผ่านฝ่ามือลงไป ตั้งจิตระลึกถึงเรื่องราวในอดีต
ณ จุดนี้เมื่อ 30 กว่าปีมาแล้ว ได้หยิบเอาดินทรายหยิบมือหนึ่งติดตัวไป ด้วยจิตกำหนดหมายให้เป็นความรู้สึกว่า ดินนี้คือ พ่อ-แม่-บรรพบุรุษ และทุกๆ สิ่งที่ให้กำเนิดเกิดชีวิตขึ้น จะนำดินนี้ติดตัวไปทั่วทุกหนทุกแห่งที่เดินทางไป เดินทางไปเพื่อศึกษาเรียนรู้ เดินทางไปเพื่อแสวงหาความสำเร็จแห่งชีวิต หากมีอันต้องจบชีวิตลงในช่วงระหว่างการเดินทาง ก็จะถือว่าได้จบชีวิตลง เพื่อคืนกลับไปเป็นหนึ่งเดียวกับดินที่เป็นพ่อ-แม่-บรรพบุรุษ แต่หากว่าได้เดินทางท่องเที่ยวไปจนประสบความสำเร็จ ก็จะนำดินนี้คืนสู่ที่เดิม
บัดนี้ ได้เดินทางท่องเที่ยวไปในโลกกว้าง ได้เรียนรู้ ได้ประสบกับสิ่งต่างๆ จนรู้สึกว่าเพียงพอแล้ว สำเร็จแล้ว กับการมีชีวิตอยู่เพื่อการเรียนรู้ จึงขอคืนดินนี้สู่ที่เดิม
ช่วงขณะแห่งการระลึกได้เช่นนี้ ปรากฏเหมือนมีอะไรมารวมอัดแน่นอยู่ภายใน ร่างกาย เนื้อตัวสั่นสะท้าน ความปิติแผ่ซ่านไปทั่วสรรพางค์กาย น้ำตาไหลพรากลงมาอาบแก้ม
(หน้า 493-494 ตอนถึงบ้าน)
------------------------------

อำนาจ : สิ่งที่ได้จากหนังสือเล่มนี้แน่นอนคือ ปรัชญาชีวิต ที่สอดแทรกอยู่ในทุกบททุกตอนของเนื้อหา ให้กำลังใจในยามท้อแท้ได้เป็นอย่างดี ประทับใจและอยากแนะนำให้ได้ลองอ่านกัน

สุวนศาสตร์ : สิ่งที่ได้จากการอ่านหนังสือเล่มนี้คือ เรื่องราวการออกเดินเท้าทางไกลเพื่อคนหาสิ่งล้ำค่าที่ถูกกลืนหายไปกลับกระแสสังคมในปัจจุบัน ระหว่างอ่านเกิดความรู้สึกสนุกเพลิดเพลิน ตื่นเต้น ลุ้นระทึก เศร้าใจจากการที่ถูกผู้อื่นปฏิเสธ และสุขใจเมื่อพบสัมพันธภาพที่สวยงามในสังคม เหน็ดเหนื่อยเสมือนร่วมเดินไปกับผู้เขียน การไม่มีเงินตราติดตัวไปเลยทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงความหมายของชีวิตได้โดยไม่น่าเชื่อ เหมือนกับการที่เราหลุดออกมาอีกโลกๆ หนึ่ง เพราะชีวิตของคนเราในปัจจุบัน ไปถูกทำให้ติดผูกพันอยู่กับเงินสูงมาก ถึงขนาดที่ว่าถ้าไม่มีเงินมันเหมือนชีวิตนี้ไม่มีความหมาย เพราะฉะนั้นการที่อาจารย์เดินออกไปแล้วไม่มีเงินมันเป็นสิ่งท้าทายมาก พร้อมกันนี้ในเรื่องของเวลา เมื่อเราอยู่ในชีวิตปกติเรามีเรื่องเวลาเข้ามากำกับคุณค่าและความหมายตลอด แต่เมื่ออาจารย์ก้าวเดินไปแล้วและอธิษฐานขอตั้งมั่นเอาจิตจดจ่ออยู่กับปัจจุบันธรรม ไม่ตกไปที่อดีตหรือไม่กระสับกระส่ายกลายเป็นการปรุงแต่งเป็นไปเพื่ออนาคต ทีละก้าวๆๆ ทำให้ประจักษ์แจ้งว่า จริงๆ แล้วชีวิตของเราที่มันมีปัญหามากมายสารพัด ส่วนหนึ่งเพราะเราตกอยู่ภายใต้เงื่อนไขของการปรุงแต่งเรื่องเวลา มันทำให้สิ่งที่เป็นปัจจุบันสูญเสียคุณค่าไป ดั้งพระพุทธวจนะที่ว่า จะมีชีวิตอยู่สักร้อยปี แต่จิตใจไม่สงบนิ่ง ไม่เย็นเป็นสุข สู้มีชีวิตอยู่นาทีเดียวแต่จิตสงบนิ่งเป็นสุขไม่ได้

ไม่มีความคิดเห็น: