วันพุธที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2552

ความหลากหลายทางชีวภาพกับการทำเกษตรอินทรีย์

ชื่อหนังสือ : ความหลากหลายทางชีวภาพกับการทำเกษตรอินทรีย์
(หนังสือชุดคู่มือนักส่งเสริมเกษตรอินทรีย์)
ปีที่พิมพ์ : มกราคม 2552
จัดพิมพ์โดย : มูลนิธิสายใยแผ่นดิน
ISBN : 978-974-614-921-1
จำนวนหน้า : 71
สรุปวิจารณ์โดย : นิษฐา เพ้ยจันทึก
เมื่อ : 8 ธันวาคม 2552

ความหลากหลายทางชีวภาพกับการทำเกษตรอินทรีย
ในทางวิชาการความหลากหลายทางชีวภาพแบ่งออกเป็นได้ 3 ระดับ คือ ความหลากหลายทางพันธุกรรม ความหลากหลายของสิ่งมีชีวิต และความหลากหลายของระบบนิเวศ ซึ่งความหลากหลายทางพันธุกรรม คือ ความแตกต่างของพันธุกรรมในสิ่งมีชีวิตประเภทหนึ่งๆ เช่น การมีข้าวหลากหลายสายพันธุ์ในนาข้าว ความหลากหลายของสิ่งมีชีวิต คือ ความแตกต่างของสิ่งมีชีวิตทั้งชนิดและประเภทในพื้นที่หนึ่งๆ เช่น การมีพืชหลากหลายชนิดและสัตว์ต่างๆ ในฟาร์ม และความหลากหลายของระบบนิเวศ คือ ความแตกต่างของระบบนิเวศในแต่ละพื้นที่ เช่น การที่ประเทศหรือภูมิภาคมีความแตกต่างของระบบนิเวศที่แตกต่างกัน

ความหลากหลายทางชีวภาพมีความสำคัญโดยตรงและโดยอ้อมทั้งต่อการพัฒนาการเกษตร และต่อการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมอย่างยั่งยืนในหลายด้าน ซึ่งในหนังสือเล่มนี้ได้เน้นการวิเคราะห์เกี่ยวกับประโยชน์และความสำคัญของความหลากหลายทางชีวภาพสำหรับสำหรับการเกษตรและการพัฒนาเป็นหลัก ประกอบด้วยความสำคัญด้านต่างๆ ได้แก่ การเป็นแหล่งเชื้อพันธุ์สำหรับการปรับปรุงพันธุ์ในภาคการเกษตร การเป็นแหล่งสมุนไพรและยารักษาโรค การทำให้เกิดเสถียรภาพของนิเวศการเกษตร ความมั่นคงทางด้านอาหาร การเป็นแหล่งวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรม การให้บริการทางนิเวศ และการให้คุณค่าทางสุนทรียภาพและจิตวิญญาณ

แต่อย่างไรก็ตามถึงแม้นว่าในสภาวะปกติของธรรมชาติ สิ่งมีชีวิตต่างๆ อาจสูญพันธุ์ไปเองตามธรรมชาติแต่ขณะเดียวกันก็จะมีสิ่งมีชีวิตใหม่เกิดขึ้นทดแทนกัน ทำให้ความหลากหลายทางชีวภาพอยู่อย่างสมดุล แต่ก็อาจมีการลดลงหรือสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ได้ เช่น สัตว์ตระกูลไดโนเสาร์ที่สูญพันธุ์ไปครั้งใหญ่เมื่อ 65 ล้านปีก่อน ดังนั้นแนวทางสำคัญที่จะทำให้อัตราของการสูญพันธุ์ของความหลากหลายทางชีวภาพลดน้อยลงได้ คือ การอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพๆไว้ให้ได้มากที่สุด เพราะสิ่งมีชีวิตจะมีความสัมพันธุ์กับสิ่งมีชีวิตอื่นๆ มากมายในระบบนิเวศ ซึ่งจะทำให้สามารถดำรงชีวิตต่อไปได้ ถึงแม้อาจลดลงจากปัจจัยต่างๆ หลายด้านก็ตาม แต่ในหลักการและแนวทางการทำเกษตรในระบบเกษตรอินทรีย์นั้นหัวใจสำคัญคือ การอนุรักษ์และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม ดังนั้นการบริหารจัดการฟาร์มในระบบเกษตรอินทรีย์จึงเป็นการจัดการในลักษณะเชิงบวก มองระบบการผลิตแบบองค์รวม ให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพไว้อย่างชัดเจน โดยลักษณะการจัดการฟาร์มในระบบเกษตรอินทรีย์ที่ส่งผลต่อการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในฟาร์ม มีการจัดการอย่างน้อย 4 ด้านเป็นสำคัญ คือ ก.) การปลูกพืชหมุนเวียน ข.) การสร้างสมดุลของความเกื้อกูลในการปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ในฟาร์ม ค.) การใช้ปุ๋ยคอกและปุ๋ยพืชสด ง.) การจัดการวัชพืชศัตรูพืชโดยวิธีธรรมชาติ โดยวิถีการผลิตเกษตรกรที่ทำอินทรีย์มีส่วนร่วมตั้งแต่การวางแผนการผลิต เช่น ปลูกพืชที่หลากหลาย สิ่งมีชีวิตเกื้อกูลกัน ระบบนิเวศโดยรวมที่หลากหลายทั้งพืช สัตว์ เป็นต้น รวมทั้งระบบมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ที่ยอมรับในระดับสากลให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม เช่น ปฏิเสธการใช้สารเคมีสังเคราะห์ทุกชนิด (ปุ๋ยเคมี สารกำจัดวัชพืช โรคแมลงต่างๆ) และได้กำหนดความหลากหลายขั้นต่ำที่เกษตรกรผู้ผลิตต้องมีในฟาร์มหรือพื้นที่ทำการเกษตรไว้ด้วย เช่น มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ของ มกท. (ประเทศไทย) ต้องมีความหลากหลายอย่างน้อย 5% ของพื้นที่การผลิต หรือมาตรฐานบางประเทศ (ยุโรป) กำหนดความหลากหลายอย่างน้อย 7% ของพื้นที่ทำการผลิต จึงเห็นได้ชัดเจนว่าเกษตรอินทรีย์มีความแตกต่างกับเกษตรเคมีที่เน้นระบบการผลิตเพียงชนิดใดชนิดหนึ่งเท่านั้นไม่ได้มองระบบนิเวศโดยรวมแต่มุ่งเน้นที่ให้ได้ปริมาณผลผลิตสูงสุด

ดังนั้น นักส่งเสริมเกษตรอินทรีย์และเกษตรกรผู้สนใจและให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมที่เริ่มเปลี่ยนแปลงไป มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพในแง่มุมต่างๆ ตลอดจนคัดเลือกแนวทางในการจัดกิจกรรมและโครงการเพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพ ให้สอดคล้องกับระบบนิเวศ ชุมชน สังคม ท้องถิ่นนั้นๆ โดยไม่ทำลายแต่ช่วยส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนช่วยกันอนุรักษ์และฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพให้ยั่งยืนสืบทอดสู่ชั่วรุ่นชั่วหลานต่อไป

2 ความคิดเห็น:

Unknown กล่าวว่า...

มีสาระหน้ารู้มากๆครับซึ่งทำให้เกษตรกรผู้ที่สนใจเกี่ยวกับการทำเกษตรอินทรีย์มีกำลังใจในการทำต่อไปครับ

Unknown กล่าวว่า...

อยากได้ข้อมูลเกี่ยวกับการทำ Agrobiodiversityของประเทศไทยเรา พอจะมีข้อมูลไหมคะ