วันศุกร์ที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2552

MESA โปรแกรม โอกาสสำหรับการเรียนรู้เกษตรอินทรีย์ ในต่างแดน

หลังจากผ่านการใช้ชีวิตในด่างแดนเกือบแปดเดือนที่ผ่านมา (26 มีนาคม – 14 พฤศจิกายน 2552) ที่ฟาร์มผักเกษตรอินทรีย์ ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนกลางของรัฐ Pennsylvania ประเทศสหรัฐอเมริกา ในครั้งนี้รู้สึกว่าเวลาได้ผ่านไปอย่างรวดเร็ว ยังนึกถึงวันแรกที่เริ่มสมัครโครงการ Multinational Exchange for Sustainable Agriculture (MESA) ช่วงปลายปีที่แล้วและได้รับคัดเลือกจากพี่ไมเคิล และพี่ออน (ตัวแทน MESA ประเทศไทย) หลังจากนั้นก็ถูกส่งไปฝึกภาษาและฝึกการทำงานในฟาร์มเกษตรอินทรีย์ที่พันพรรณฟาร์ม อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ (พี่โจน จันได) ซึ่งที่นี่ได้ทำให้เราได้ทำงานฟาร์มและฝึกภาษากับชาวต่างชาติ เรียนรู้วัฒนธรรม การใช้ชีวิตร่วมกับชาวต่างชาติ ซึ่งถือเป็นการเตรียมตัวที่ดี แต่ช่วงอยู่ที่นี่ก็ยังต้องลุ้นมากเหมือนกันเพราะยังไม่รู้ผลตอบรับจากฟาร์มที่อเมริกา เนื่องจากฟาร์มที่เข้าร่วมโครงการ MESA มีน้อยกว่าคนที่สมัครซึ่งมาจากหลายประเทศ ใช้เวลาอยู่ที่พันพรรณไม่นานก็มี New Morning Farm ยื่นความจำนงมา และผมตัดสินใจเลือกฟาร์มนี้





ด่านต่อไปก็เป็นเรื่องของการขอวีซ่า ซึ่งเขาเล่าลือกันว่าวีซ่าไปอเมริกาค่อนข้างได้ยากมาก เพื่อนที่ผ่านการคัดเลือกอีกสองคน คือน้องอั๋นจากแม่ทา และต๊ะจากพันพรรณ ชวนไปสมัครขอวีซ่าที่สถานฑูตอเมริกาที่เชียงใหม่ แต่ผมได้ตัดสินใจยื่นสมัครขอวีซ่าที่กรุงเทพ และได้ดำเนินการตามขั้นตอนที่เขากำหนดโดยพี่ไมเคิลและพี่ออนก็ได้ให้คำแนะนำ วันที่ผมได้ไปสัมภาษณ์ รู้สึกตื่นเต้นมากเพราะกังวลเรื่องภาษา ตอนเช้าวันที่นัดสัมภาษณ์พี่ไมเคิลไปส่ง พอเจอพี่เขาไม่ยอมพูดภาษาไทยพูดภาษาอังกฤษ ก็พยายามตอบไปตะกุกตะกัก แต่ก็ทำให้มั่นใจขึ้นนิดหน่อยเพราะสามารถฟังพี่เขารู้เรื่อง ถึงเวลาเข้าไปสัมภาษณ์คนเยอะมากนั่งรอนานประมาณเกือบสองชั่วโมง พอถึงคิวสัมภาษณ์ เขาสัมภาษณ์แค่ห้านาทีและรู้ผลว่าผ่าน ได้วีซ่าอเมริกาจริงๆ ทีนี้ก็เป็นจริง แล้วที่จะได้ไปอเมริกา.... ก่อนที่จะเดินทางไป New Morning Farm จะต้องเดินทางไปรัฐแคลิฟอร์เนียเพื่อเข้าร่วมสัมนาปฐมนิเทศก่อน 4 วัน เพื่อรับทราบข้อตกลงโครงการและการปฏิบัติตัวช่วงที่อยู่ที่ฟาร์ม หลังจากนั้นก็เดินทางไปยัง host farm (New Morning Farm) ถึงฟาร์มวันแรกวันที่ 1 เมษายน ซึ่งช่วงนั้นอากาศยังหนาว เขาให้พักผ่อนจัดของเข้าที่พักบ้านหลังใหญ่กับเจ้าของฟาร์ม วันรุ่งขึ้นเป็นการแนะนำฟาร์ม ที่ฟาร์มมีพื่นที่ 95 เอเคอร์ (ก็ประมาณ 240 ไร่) ทำระบบเกษตรอินทรีย์ทั้งหมดและขอการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ของสหรัฐอเมริกา ในพื้นที่ปลูกพืชผักประมาณ 40 กว่าชนิด raspberry และ strawberry เลี้ยงไก่ไข่ 250 ตัว มีคนงานและ intern รวมกัน 20 คน เจ้าของฟาร์มเริ่มทำเกษตรตั้งแต่ ปี ค.ศ 1972 โดยการเช่าที่ดิน และซื้อที่ดินปัจจุบันในปี ค.ศ. 1976 การทำงานในฟาร์มก็เหมือนกับฟาร์มผักเกษตรอินทรีย์อื่นๆ ช่วงแรกก็เตรียมดินโดยการหว่านปุ๋ยหมัก ไถแล้วก็ยกแปลงคลุมพลาสติก เพาะกล้าในโรงเรือน ย้ายปลูก กำจัดวัชพืช ป้องกันโรค และจัดการผลผลิตหลังการเก็บเกี่ยว แต่ที่นี่จะทำเกษตรอินทรีย์แบบครบวงจรคือทำทั้งการผลิตและการตลาด รวมทั้งมีการจัดการร่วมกันเป็นกลุ่มสหกรณ์ในชุมชนท้องถิ่น





ซึ่งจากการได้ทำงานที่นั่นและการสังเกตด้วยตัวเอง สิ่งที่เห็นเด่นชัดและคิดว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ฟาร์มนี้ประสบความสำเร็จหลัก ๆ คือ

1. เจ้าของฟาร์มให้ความสำคัญกับการปรับปรุงบำรุงดินซึ่งเขาจะใส่ปุ๋ยคอกจากขี้ไก่ที่เลี้ยงเอง และยังไม่พอมีการวิเคราะห์ดินและซื้อปุ๋ยหมักมาใส่ทุกปี ยามว่างจากการผลิตเขาก็จะหว่านพืชคลุมดินโดยไม่ปล่อยให้พื้นดินว่างเปล่า
2. การตลาด เจ้าของฟาร์มเลือกเมืองใหญ่อย่าง Washington DC เป็นที่ขายของซึ่งผู้คนที่นั่นให้ความสำคัญกับสินค้าอินทรีย์ ผู้คนมีกำลังซื้อสูง ก่อนที่จะมาทำฟาร์มเจ้าของฟาร์ม ได้เป็นพ่อค้ามาก่อนโดยซื้อผักไปขายทำตลาดก่อนเมื่อตลาดอยู่ตัวแล้วเขาจึงมาเริ่มทำฟาร์มเอง
3. สหกรณ์ผู้ผลิต ที่ฟาร์มเป็นที่ตั้งของสหกรณ์ผู้ผลิต มีความร่วมมือกันระหว่างผู้ผลิตเพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพและตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภค เพราะการผลิตผักบางครั้งประสบปัญหาโรคแมลง ไม่ได้ผลผลิต ก็สามารถสั่งซื้อจากสหกรณ์ ได้ และบางครั้งผลผลิตออกมามาก สหกรณ์ก็รับซื้อ
4. ความซื่อสัตย์ ที่ฟาร์มทำเกษตรอินทรีย์ อย่างแท้จริงไม่มีการปลอมปน ทำให้ผู้บริโภคมีความมั่นใจและเป็นลูกค้าประจำ นอกจากการขายสินค้าอินทรีย์ ที่แท้จริงแล้ว เจ้าของฟาร์มยังใส่ใจเรื่องคุณภาพ หากผลผลิตไม่ได้คุณภาพ เขาก็ไม่ส่งขาย
5. ฟาร์มมีการบริหารจัดการที่ดีและการทำบัญชี มีการประเมินทุกเดือน หากเดือนไหนไม่เป็นไปตามเป้าก็มาวิเคราะห์กันว่าเกิดจากสาเหตุอะไร และพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนและทดลองสิ่งใหม่ ๆ เสมอ




นอกจากการได้เรียนรู้เรื่องเทคนิคการทำฟาร์มเกษตรอินทรีย์ ระบบการจัดการฟาร์ม การตลาด แล้วโครงการ MESA ยังเปิดโอกาสให้สร้างเครือข่ายองค์ความรู้ด้านเกษตร เพราะเราสามารถติดต่อกับฟาร์มที่เราไปอยู่ และเพื่อน ๆ ที่มาจากเปรู เอกวอดอร์ บราซิล ซึ่งเพื่อนๆ เหล่านี้ก็ไปทำงาน host farm ที่ต่าง ๆ กัน และยังมีประสบการณ์ในประเทศของเขาด้วย เป็นการเปิดโลกกว้างทางการเกษตร




จากประสบการณ์ครั้งนี้ทำให้ได้เรียนรู้เกษตรอินทรีย์จากการปฏิบัติจริง ในการไปทำงานจะต้องใช้แรงงานค่อนข้างมาก ภาษาอังกฤษเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็น รวมทั้งการปรับตัวเข้ากับสภาพอากาศที่หนาวเย็น วัฒนธรรมที่แตกกต่างกัน การอยู่การกิน แต่ก็เป็นสิ่งที่ท้าทายสร้างประสบการณ์เติมแต่งสีสรรให้กับชีวิตอีกรูปแบบหนึ่ง
ท้ายสุดนี้ผมขอขอบคุณโครงการ MESA พี่ออน พี่ไมเคิล และพี่ๆ ที่กรีนเนททุกคน ที่ให้ความช่วยเหลือผมมาโดยตลอด และขอขอบคุณ คุณ Steve ที่ให้การสนับสนุนค่าตั๋วเครื่องบิน ขอบคุณครับ


1 ความคิดเห็น:

บ่าวเขียว กล่าวว่า...

ขอบคุณสำหรับข้อมูลที่มีส่วนช่วยส่งเสริมเรื่องการทำเกษตรอินทรีย์ในบ้านเราครับ ฝากอีกช่องทางหนึ่งที่คุณสามารถนำเสนอความคิดเห็น หรือแสดงทัศนะแลกเปลี่ยนประสบการณ์เกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์ หรือเกษตรวิถีธรรมชาติได้ที่ http://www.greenlattes.com เป็นเว็บที่ช่วยส่งเสริมและสนับสนุนการทำเกษตรอินทรีย์ในเมืองไทยครับ