โดย ดร.สุนัย จุลพงศธร
ฝ่ายวิสาหกิจชุมชน
หนังสือนี้เรียบเรียงจากงานวิจัยในงานเขียนดุษฎีนิพนธ์ในหัวข้อเรื่อง “การปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมกับแนวคิดเศรษฐกิจชุมชนทางเลือกเพื่อความยั่งยืน: กรณีศึกษาโรงสีชุมชน”โดยผู้วิจัยได้สำรวจข้อมูลโรงสีชุมชน วัตถุประสงค์การก่อตั้ง การดำเนินงาน โดยผู้วิจัยได้พบกับกรรมการโรงสีชุมชน สมาชิก และประชาชนทั่วไป มากกว่า 20 จังหวัด จากภาคเหนือตอนบน ภาคเหนือตอนล่าง ภาคอีสาน ภาคกลาง โดยเก็บข้อมูล82 โรงสีชุมชน และจากโรงสีเอกชนและวิสาหกิจชุมชนอื่นๆ อีกประมาณ 10 กิจการ เพื่อทำการศึกษาเปรียบเทียบ ถึงวิธีการจัดการบริหารที่ทำให้โรงสีชุมชนนั้นอยู่รอด
นับแต่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ในปี พ.ศ. 2540 ทำให้แนวคิดเศรษฐกิจชุมชนซึ่งเป็นระบบเศรษฐกิจทางเลือกทวีความสำคัญ แม้แนวคิดเศรษฐกิจชุมชนจะมีความสำคัญโดยกำหนดเป็นแนวนโยบายแห่งรัฐแล้วก็ตามแต่ประสิทธิภาพของการบริหารจัดการเศรษฐกิจชุนชนเพื่อให้เกิดความเข้มแข็งสามารถยืนบนขาตนเองได้โดยไม่ต้องเป็นภาระกับรัฐในระยะยาวยังเป็นหัวใจสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวคิดของเศรษฐกิจชุมชนหรือวิสาหกิจชุมชนนี้มีปรัชญาที่แตกต่างจากระบบเศรษฐกิจทุนนิยมซึ่งเป็นเศรษฐกิจกระแสหลักโดยพื้นฐาน กล่าวคือเศรษฐกิจทุนนิยมให้ความสำคัญกับต้นทุนและผลกำไร แต่วิสาหกิจชุมชนไม่มุ่งเน้นการสร้างผลกำไรเพียงด้านเดียว เน้นการพึ่งตนเองครอบครัว ชุมชน และระหว่างชุมชน หรือเครือข่าย ไม่ได้มุ่งแสวงหากำไรให้มากที่สุด แต่ตอบสนองการอยู่ร่วมกัน การมีสุขภาพอนามัยที่ดี มีคุณภาพชีวิตที่ดีของคนในชุมชน
โรงสีชุมชนถือได้ว่าเป็นวิสาหกิจชุมชนในรูปลักษณะหนึ่งที่ชุมชนร่วมกันประกอบกิจการและแบ่งปันผลประโยชน์กันที่ใช้รูปลักษณะธุรกิจการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรที่เป็นข้าว ซึ่งถือเป็นผลผลิตที่จำนวนมากที่สุดที่เกษตรกรทำการผลิตที่ตั้งอยู่ในชนบท โดยทำการผลิตเพื่อตอบสนองต่อการดำรงอยู่ของประชาชน ในชุมชนเพื่อเป็นทางเลือกให้แก่ชุมชนในการที่จะบริโภคผลผลิตของตนเองเพื่อลดทอนการถูกเอารัดเอาเปรียบจากระบบ ทุนนิยมโดยเฉพาะในส่วนที่เป็นปัจจัยสำคัญที่สุดคืออาหารประจำวัน ที่ทุกคนจะต้องรับประทานข้าวเพื่อการดำรงชีพ โดยโรงสีชุมชนอาจจะได้รับการสนับสนุนทุนจากภาครัฐหรือองค์กรเอกชนหรือการร่วมทุนกันของประชาชนในชนบทก็ได้
สถานภาพเศรษฐกิจชุมชนปัจจุบัน: กรณีโรงสีชุมชน
พบว่าโรงสีชุมชนและวิสาหกิจชุมชนเกือบทุกแห่งในประเทศไทยล้วนแล้วแต่เป็นวิสาหกิจชุมชนที่รัฐเป็นผู้อุปถัมภ์ทั้งสิ้น โดยเป็นการสนับสนุนเงินทุนแบบให้เปล่าในการจัดตั้งวิสาหกิจชุมชน และ ได้พบว่าในการดำเนินการบริหารจัดการวิสาหกิจชุมชนทุกแห่ง ในการคิด ต้นทุนกำไรขาดทุนนั้น ไม่มีแห่งใดเลยที่นำงบประมาณที่รัฐสนับสนุนมาเป็นต้นทุนในการคิดคำนวณด้วย การดำเนินการดังกล่าวทำให้เห็นชัดว่าการบริหารจัดการ ได้ปฏิเสธการบริหารจัดการตามสภาพที่ เป็นจริง ของระบบธุรกิจในระบบทุนนิยม หรือนัยหนึ่งเป็นการบริหารจัดการแบบเศรษฐกิจชุมชนดั้งเดิม ซึ่งสนใจการดำรงอยู่เฉพาะหน้าเท่านั้น แต่ไม่คำนึงถึงอนาคตว่าวิสาหกิจชุมนนั้นจะอยู่หรือจะล้มละลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงสีชุมชนไม่ว่าจะเป็นขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ขนาดเล็กไม่เพียงแต่ไม่นำต้นทุนที่รัฐบาลให้ทุนสนับสนุนมาคิดเป็นต้นทุนประกอบการพิจารณากำไรหรือขาดทุนเท่านั้นหากแต่ยังไม่นำแรงงานของกรรมการและผู้มีส่วนร่วมทั้งที่เป็นชาวบ้าน ราชการ และตัวแทนของกลุ่ม NGO เข้ามาคิดคำนวณเป็นต้นทุนอีกด้วย
รูปธรรมที่ไม่สอดคล้องกับระบบธุรกิจ
1. ไม่ถือว่าทุนของรัฐเป็นต้นทุน
2. การบริหารจัดการไม่เน้นผลกำไรเป็นตัวเงิน แต่เน้นความพึงพอใจและประโยชน์ของชุมชนเป็นหลัก
3. ระบบบัญชีเงินคล้ายระบบราชการ ในขณะที่โรงสีชุมชนขาดเงินทุนหมุนเวียนแต่กลับมีเงินพากรรมการไปดูงาน เพราะถือว่าเป็นเงินคนละส่วน
4. การบริหารจัดการเน้นความเสียสละโดยรูปแบบ ไม่เน้นความสามารถและผลงานดังนั้นโรงสีชุมชนส่วนมากจึงขาดการประเมินผลงานเพื่อหลีกเลี่ยงข้อขัดแย้ง เพราะถือว่าผู้บริหารเป็นผู้เสียสละแล้ว
5. ค่าตอบแทนของผู้บริหารกิจการไม่เป็นไปตามความจริงส่วนมากค่าแรงงานต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนดส่วนใหญ่ผู้บริหารมีอาชีพอื่นเป็นหลัก วิสาหกิจชุมชนเป็นเพียงงานอดิเรก ทำให้ไม่สามารถเรียกร้องประสิทธิภาพ
6. ขาดความกระตือรือร้นในการบริหารจัดการ เนื่องจากเงินทุนเป็นเงินช่วยเหลือแบบให้เปล่าจากรัฐ
ปัญหาของโรงสีชุมชน
1. ตั้งโรงสีชุมชนในชุมชนที่ขาดความพร้อม จุดอ่อนนี้เกิดจากรัฐเป็นผู้ให้การสนับสนุนด้านเงินทุนแบบให้เปล่าโดยชุมชนยังไม่มีความพร้อม
2. การขาดผู้นำชุมชนที่เข้มแข็ง ผู้นำที่เข้มแข็งเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนโรงสีชุมชนโดยชาวบ้านไม่ค่อยให้ความสำคัญว่าผู้นำที่มาบริหารจัดการนั้นมีความสามารถพอที่จะบริหารจัดการได้หรือไม่
3. สมาชิกโรงสีต้องการผลประโยชน์เฉพาะหน้า สมาชิกรอคอยแต่ผลกำไรที่จะแบ่งปันในแต่ละปีเท่านั้น และรอขายข้าวให้ในราคาพิเศษที่สูงกว่าตลาดเพราะเป็นอุดมการณ์ของโรงสีชุมชนที่ต้องการให้ความเป็นธรรมในการกำหนดราคาข้าว โดยไม่สนใจให้ตรวจคุณภาพข้าว ฝ่ายกรรมการก็ไม่กล้าขัดเพราะกลัวเสียคะแนน เนื่องจากต้องรักษาความนิยม ในการเลือกตั้ง อบต.หรือผู้ใหญ่บ้าน
4. ระบบกรรมสิทธิ์รวม ขาดเจ้าภาพ เมื่อโรงสีได้เปล่าจากรัฐ และเมื่อมีกำไรก็แบ่ง
เท่า ๆ กันหมด ผลตามมาจึงทำให้ไม่มีใครยอมเสียสละทำงานหนัก เพื่อกิจการของ
ชุมชน
5. การคิดกำไร- ขาดทุนไม่เป็นจริง
6. เปลี่ยนกรรมการบริหารบ่อยทำให้การทำงานไม่ต่อเนื่อง เนื่องจากธุรกิจข้าวเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนและใช้การตัดสินใจที่ฉับไว แต่ด้วยกฎระเบียบของกลุ่มที่กรรมการต้องเว้นวรรคทำให้การบริหารไม่ต่อเนื่อง
7. โรงสีชุมชนบางแห่งเป็นเพียงกิจการบังหน้า วางระบบการบริหารไม่เป็นจริง เน้นแต่ผู้บริหารเสียสละเพียงอย่างเดียวโดยไม่สอดคล้องกับการดำเนินชีวิตที่ต้องดิ้นรนหาอยู่หากิน ในที่สุดผู้นำบางคนก็ใช้ความเสียสละบังหน้าโดยตั้งโรงสีชุมชนเพียงเพื่อการหาประโยชน์จากค่านายหน้าจากการก่อสร้างและการซื้อเครื่องจักร บางรายก็ใช้เป็นฐานในการหาเสียงโดยรับซื้อข้าวเปลือกราคาแพงแต่ขายข้าวสารราคาถูกให้ชุมชนโดยไม่ต้องสนใจกำไร-ขาดทุนเพราะโรงสีได้มาฟรี ๆ
ลักษณะเด่นของโรงสีชุมชน
1. มีจิตสำนึกพื้นฐานว่าถูกเอารัดเอาเปรียบ
จากจิตสำนึกพื้นฐานว่าตนถูกระบบทุนนิยมเอารัดเอาเปรียบ ในระบบกลไกการค้าข้าวซึ่งถือว่าเป็นจิตสำนึกพื้นฐานที่ดีในการรวมกลุ่มอย่างมีพลังเพื่อขับเคลื่อนกิจการโรงสีชุมชน
2. ชุมชนเครือญาติในชนบท
ชุมชนมีลักษณะเป็นเครือญาติที่เกาะเกี่ยวกันเป็นหมู่คณะในชนบทซึ่งเป็นพื้นฐานที่ดีที่จะนำมาประยุกต์ใช้เพื่อปรับกระบวนความสัมพันธ์ในชุมชนเครือญาติให้มาเป็นเครือข่ายการตลาด
3. วัฒนธรรมความสามัคคีในชุมชน
สามัคคีในชุมชนเป็นวัฒนธรรมที่ยังคงเหลืออยู่แม้จะเสื่อมถอยไปบ้างแต่ยังดำรงอยู่ให้เห็นต่างจากสังคมเมือง เช่นการจัดกิจกรรมร่วมกันทางศาสนา หากนำวัฒนธรรมชุมชนที่ดีนี้มาปรับใช้ในการเศรษฐกิจจะเป็นพื้นฐานสำคัญของระบบเศรษฐกิจชุมชน
4. ความอดทน
พื้นฐานความอดทนของคนชนบทที่ต้องต่อสู้กับความยากลำบากทาง ธรรมชาติและความลำบากทางสังคมที่มีต่อเนื่องกันมาหากปรับพื้นฐานความอดทนทางสังคมให้เข้าสู่ความอดทนในการทำธุรกิจอย่างทุ่มเทและมีแรงจูงใจย่อมจะทำให้โรงสีชุมชนไปสู่ความสำเร็จได้
5. ภาพลักษณ์ที่ดี
โรงสีชุมชนมีภาพลักษณ์ที่ดีต่อสังคม คือ การรวมตัวกันของเกษตรกรทำกิจการค้าขายจากผลผลิตตนเอง และสังคมมีความสำนึกดีว่าการอุดหนุนสินค้าชุมชนเป็นการช่วยเหลือชาวนาผู้ถูกเอารัดเอาเปรียบ ซึ่งภาพลักษณ์นี้หากมีการปรับมาใช้ในการผลิตข้าวสารออกจำหน่ายสู่ตลาดอย่างเป็นระบบ ก็จะช่วยให้กิจการโรงสีชุมชนมีต้นทุนทางสังคมการตลาด จากจิตสำนึกสังคมที่เหนือกว่าโรงสีพ่อค้าทั่วไป
ลักษณะโรงสีเกิดจากทุนมี 3 ลักษณะคือ
1. เกิดจากทุนของชุมชนเอง
โรงสีชุมชนลักษณะนี้จะมีภาระหน้าที่สำคัญคือสีข้าวเพื่อใช้บริโภคในชุมชนเท่านั้นโดยไม่ทำการค้า โรงสีลักษณะนี้จะพบน้อยมาก รัฐไม่มีส่วนเกี่ยวข้องเลยโรงสีก็อยู่ได้ แต่หากรัฐจะเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องควรเป็นลักษณะดังนี้
1.1 ควรใช้โรงสีลักษณะนี้เป็นต้นแบบการศึกษาของชุมชนที่ชุมชนมีส่วนร่วมอย่าแท้จริง
1.2 ให้การสนับสนุนด้านเทคนิคการผลิตการซ่อมบำรุงรักษาเครื่องจักร
1.3 หากชุมชนมีความพร้อมในการขยายการผลิต รัฐควรให้คำแนะนำเครือข่ายการตลาดหรือแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ
2. เกิดจากทุนของชุมชนและทุนราชการ
เกิดขึ้นจากทุนของชุมชนก่อนสักระยะหนึ่ง จนสามารถพึ่งตนเองได้ แล้วทางราชการจึงจะเข้ามาสนับสนุนภายหลัง โรงสีลักษณะนี้ส่วนใหญ่ชุมชนมีพื้นฐานความสามัคคีเหมือนโรงสีลักษณะแรกโรงสีลักษณะนี้จะได้รับเงินทุนให้เปล่าจากรัฐเพื่อขยายกิจการและจะเริ่มชินกับระบบอุปถัมภ์จากรัฐการผลิตแบบดั้งเดิมจะเริ่มเปลี่ยน ต้องคอยเอาใจผู้ว่าราชการจังหวัดแทนเอาใจลูกค้าและต้องคิดค้นโครงการเพื่อขอรับทุนจากรัฐมากกว่าการคิดค้นโครงการเพื่อการตลาด โรงสีลักษณะนี้เมื่อขยายกิจการออกไปมากความเสี่ยงกำไร - ขาดทุนก็มีมากขึ้นตาม แต่การบริหารจัดการกลับอ่อนแอลงเรื่อย ๆ ส่วนการจัดทำบัญชีก็ไม่เป็นจริงโดยทุนที่ได้จากภาครัฐไม่คิด ค่าแรงจากรัฐ จากNGO ที่เข้ามาช่วยทำงานก็ไม่ได้คิดเป็นทุนด้วย เพราะถ้านำมาคิดโรงสีก็อยู่ไม่ได้
การแก้ไขปัญหาโรงสีลักษณะนี้
1. จัดทำระบบบัญชีที่เป็นจริงเพื่อให้เห็นศักยภาพการบริหารจัดการที่เป็นจริง
2. ยุติการช่วยเหลือเงินทุนแบบให้เปล่า หากโรงสีใดมีความจำเป็นด้านเงินทุนก็ให้ระดมทุนเพิ่มจากผู้ถือหุ้นและยกเลิกการถือหุ้นเท่า ๆ กันโดยโดยผู้นำคือผู้มีส่วนได้เสียมากกว่า
3. ตั้งระยะเวลาในการปรับเปลี่ยน “เศรษฐกิจชุมชนทางเลือกเพื่อความ
ยั่งยืน” ระยะเวลาอยู่ระหว่าง 3-5 ปี
3. เกิดขึ้นด้วยทุนของรัฐเป็นหลัก
โรงสีลักษณะนี้ใช้เงินทุนของรัฐแบบให้เปล่าล้วน ๆ โรงสีลักษณะนี้จะเกิดขึ้นต่างจาก 2 ลักษณะแรก หลายแห่งเกิดจากแรงกระตุ้นรัฐตามนโยบายรัฐ ขนาดการผลิตตั้งแต่ 1 เกวียน จนถึง 500 เกวียน จากการวิจัยโรงสีลักษณะนี้เกือบทั้งหมดประสบความล้มเหลวบางแห่งล้มละลาย บางแห่งเกิดการทุจริต
การแก้ไขปัญหาโรงสีลักษณะนี้
ควรใช้วิธีเดียวกับโรงสีลักษณะที่ 2 หรืออาจจะเพิ่มมาตรการในกรณีดังนี้
1. กรณีตรวจพบการกระทำที่ทุจริตในการจัดตั้งเช่นอาศัยอำนาจการเป็นผู้นำโดยการนำงบประมาณมาจัดซื้อโรงสีตนเองเป็นโรงสีชุมชนหรือทุจริตการในการก่อสร้างจัดซื้อเครื่องจักรไม่มีประสิทธิภาพ หรือสร้างเสร็จใช้งานไม่ได้ในกรณีเช่นนี้ถ้ามีหลักฐานรัฐควรดำเนินคดีทางกฎหมาย
2. กรณีที่โรงสีขาดทุนต่อเนื่องหรือกรรมการไม่พร้อมดำเนินการต่อ ควรมีการปรับเปลี่ยนการบริหารใหม่ ควรเปิดโอกาสให้กลุ่มหรือบุคคลที่สนใจแข่งขันกันเสนอค่าเช่าหรือผลตอบแทนสูงสุดที่ชุมชนจะได้รับ โดยชุมชนมีส่วนร่วมกับทางราชการ
การเสนอรูปลักษณ์การบริหารจัดการของโรงสีชุมชนที่มีประสิทธิภาพ
ข้อเสนอรูปลักษณ์การบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ ของโรงสีชุมชนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ในการจัดตั้งโรงสีชุมชนขึ้นใหม่
1. ต้องยุติการลงทุนแบบให้เปล่า รัฐและองค์กรเอกชนทั้งหลายจะต้องยุติ นโยบายการลงทุนโดยให้เปล่า เปลี่ยนมาเป็นรูปของการสนับสนุนด้วยระบบเงินกู้อัตราดอกเบี้ยต่ำ ที่ใช้หลักทรัพย์ค้ำประกันตามหลักการประกอบธุรกิจทั่วไป
ถ้าจะลงทุนแบบให้เปล่าต้องกำหนดชัดเจนว่าจะให้โรงสีชุมชนที่ยากจนและใช้เฉพาะสีข้าวกินในชุมชนเท่านั้น
2. ต้องยุติการถือหุ้นเท่า ๆ กัน โดยให้หัวหน้ากลุ่มที่ลงทุนมากที่สุดเป็นผู้รับผิดชอบสูงสุดในการจัดการ
3. ต้องวางหลักเกณฑ์การให้สินเชื่อสงเคราะห์เป็นกรณีพิเศษ
· กำหนดลักษณะที่จะให้ความช่วยเหลือ
· กำหนดระยะเวลาในการช่วยเหลือ
· ต้องเสนอแผนในการขอความช่วยเหลือ
· รัฐต้องเปลี่ยนวิธีช่วยเหลือจากระบบสงเคราะห์เป็นระบบที่ทำให้ธุรกิจ
1 ความคิดเห็น:
*เป็นบทความที่เป็นจริง ที่หลายๆคนไม้รู้
*แต่ความสำคัญอยู่ที่ ชุมชนต้องตอยตัวเองให้ได้
*น่าสนใจ ขอนำไปเสนอต่อครับ
แสดงความคิดเห็น