วันอังคารที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2553

แรงจูงใจในการเขียนกรณีสันติอโศก และเพื่อความเข้าใจปัญหาโพธิรักษ์

“แรงจูงใจในการเขียนกรณีสันติอโศก” 96 หน้า
“เพื่อความเข้าใจปัญหาโพธิรักษ์” 106 หน้า
เขียนโดย พระเทพเวที (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)

ธนิกา รั้วประโคน


เรื่องราวต่อไปนี้ เกี่ยวกับประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นในวงการศาสนาที่กำลังวุ่นวาย เมื่อเกิดกรณีที่ท่านโพธิรักษ์ (เป็นพระสังกัดสันติอโศก) ถูกมองว่ากำลังกลบเกลื่อนบทบัญญัติในพระวินัยทับซ้อน (บทบัญญิติพระวินัย คือ กฎหมายของสงฆ์) จนกลายเป็นการหักล้างพุทธบัญญัติ ทำให้พระพุทธศาสนาสับสนในวงกว้าง ท่านพระเทพเวที (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) จึงได้เขียนหนังสือเพื่อชี้แจงให้ประชาชนได้เข้าใจประเด็นต่างๆ ด้วยเหตุและผลบนฐานของความเป็นจริง
ในหนังสือ “เพื่อความเข้าใจปัญหาโพธิรักษ์” ได้ชี้ให้เห็นปัญหาโพธิรักษ์ที่เป็นการทำผิดต่อพระธรรมวินัย และผิดความจริง แยกเป็น ๓ ด้าน คือ
๑) การทำผิดกฏหมายของบ้านเมือง
๒) การประพฤติผิดวินัยของสงฆ์
๓) การทำคำสอนของพระพุทธเจ้าให้ผิดเพี้ยน หรือลบล้างดัดแปลงพระธรรมวินัย
ที่สำคัญคือประเด็นที่ ๓ ที่ทำให้ประชาชนสับสนเพราะได้มีการหยิบยกคำสอนของพระพุทธเจ้าในพระไตรบิดกขึ้นมาตีความ ให้เป็นไปในทางที่เป็นการดัดแปลง บิดเบือน ลบล้างพุทธบัญญัติ ตลอดจนปลอมปนคำสอนในพระพุทธศาสนา เพื่อวัตถุประสงค์ที่จะตั้งบัญญัติขึ้นใหม่เอง ซึ่งถือเป็นความผิดที่ร้ายแรงที่ทำให้พระธรรมวินัยวิปริต

เล่มที่สองเป็นบทสัมภาษณ์ที่ ผศ.ดร.อาภา จันทรสกุล ในนามของคณะผู้จัดทำวารสารศึกษาศาสตร์ปริทัศน์ สัมภาษณ์พระเทพเวที เมื่อวันที่ 18 กย. 2531 ถึงแรงจูงใจในการเขียนกรณีสันติอโศก และผลที่เกิดขึ้นเมื่อได้มีการเผยแพร่ออกไป
พระเทพเวที พูดถึงแรงจูงใจในการเขียนกรณีสันติอโศก มี 5 ประเด็นดังนี้
1. อยากให้คนส่วนใหญ่ได้เข้าใจ และมีทัศนคติต่อพระพุทธศาสนาอย่างถูกต้อง
2. ให้ผู้เกี่ยวข้องหรือต้องการเกี่ยวข้องเช่น สื่อ เผยแพร่ข่าวสารด้วยประเด็นที่ถูกต้อง
3. ให้สำนักสันติอโศก ได้มองดูในแง่แนวปฏิบัติของตนเอง
4. ให้นักการเมืองที่จะมารับผิดชอบสังคม มีความเข้าใจต่อการพระพุทธศาสนาที่ถูกต้องชัดเจน
5. ที่สำคัญที่สุดคือเพื่อการรักษาพระธรรมวินัย
ผลที่เกิดขึ้นหลังจากท่าน พระเทพเวที ได้ออกมาชี้แจงในหนังสือ กรณีสันติอโศก
ในประเด็นที่อยากให้ประชาชนเข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้น ผลปรากฏว่ามีคนจำนวนหนึ่งมีทัศนคติต่อเรื่องดังกล่าวในทางที่ถูกต้องขึ้น ส่วนประเด็นที่สอง ผู้ที่เกี่ยวข้องได้แก่สื่อต่างๆ ซึ่งสื่อก็ยังเผยแพร่ประเด็นไม่ชัดเจนได้แต่เน้นขายจุดสนใจอื่น เป็นต้นว่าพูดพาดพิงให้เห็นเหมือนกับว่าเกิดการแตกแยกในคณะสงฆ์ไทย ประเด็นที่สาม ความต้องการให้สำนักสันติอโศกทบทวนสิ่งที่ได้ปฏิบัติ แล้วแก้ไขปัญหาให้ถูกต้อง และชี้แจงให้ประชาชนทั่วไปได้เข้าใจ ผลกลับทำให้สันติอโศกมีการตอบโต้กลับมหาเถรสมาคมกับพระเทพเทวีเป็นไปในทางขัดแย้งแทน ส่วนมหาเถรสมาคม ซึ่งเป็นฝ่ายที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงในการแก้ไขปัญหา ยังไม่ได้มีการดำเนินการใดๆ ที่เป็นการแก้ไขปัญหาให้ดีขึ้น สุดท้าย ปัจจุบันปัญหาที่เกิดขึ้นกับวงการศาสนายังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังและตรงประเด็น ที่สำคัญต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพราะเรื่องของการรักษาพระพุทธศาสนาให้ดำรงอยู่ไม่ใช่หน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่ง

สิ่งที่ได้เรียนรู้ ปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งในการแก้ปัญหา ก็คือจิตสำนึกและท่าทีความรู้สึกของเราต่อพระพุทธศาสนา ชาวพุทธทุกคนจะต้องมีความรู้สึกว่าตนมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของพระพุทธศาสนา พระพุทธศาสนาเป็นสมบัติร่วมกัน และดำรงไว้ซึ่งคำสอนของพระพุทธเจ้าที่บริสุทธิ์

ไม่มีความคิดเห็น: