วันอังคารที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2553

ลูกอีสาน

เขียนโดย คำพูน บุญทวี
นายบัญชา แก้วเกต
ศูนย์เกษตรอินทรีย์ จ.ยโสธร

หนังสือเรื่องลูกอีสานเล่าถึงชีวิตความเป็นอยู่ของคนอีสานในสมัยที่ยังขาดความเจริญทางวัตถุทุกๆ ด้าน ความแห้งแล้งทางดินฟ้าอากาศ ความอดอยากดิ้นร้นเพื่อความอยู่รอดทางสังคมและครอบครัว ในสมัยนั้นผู้เขียนเองยังเป็นเด็กเล็กเพิ่งรู้เดียงสา ทุกคนในครอบครัวต้องช่วยกันหาอยู่หากิน (ภาษาอีสาน) ไม่ว่าจะเป็นการหาปลา เพื่อนำมาทำเป็นปลาแห้ง, ปลาส้ม, ปลาร้า (ปลาแดก) เพื่อเก็บไว้บริโภคในฤดูที่แห้งแล้งขาดน้ำ ในฤดูกาลที่ฝนไม่ตก นอกจากนี้ยังเก็บไว้เพื่อแลกเปลี่ยน เกลือ น้ำตาลกรวด (น้ำตาลอ้อย) ในสมัยนั้นเงินทองแทบจะหาไม่ได้เลย ไม่มีการจ้างแรงงานในหมู่บ้าน เงินก็เลยดูแทบจะไม่มีความหมายสำหรับความเป็นอยู่ในชุมชนบ้านนอก ในฤดูฝนชาวอีสานพากันทำไร่ทำนา ใช้ควาย (กระบือ) ไถนา ชาวนายังไม่รู้จักปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลงใดๆ ทั้งสิ้น ทำนาแต่พอกิน ไม่มีคนรับซื้อข้าว นอกเหนือฤดูฝนจะไม่มีการทำไร่อย่างอื่นอีก หลังทำนาเสร็จ เด็กๆ จะพากันไปจับกะปอม (กิ่งกา) และพากันไปจับแย้ มาทำเป็นอาหาร เช่น ก้อยแย้ ก้อยกะปอง เป็นอาหารที่สุดยอดในปัจจุบัน และยังมีอีกมากมายหลายอย่างที่ชาวบ้านชาวอีสานหามาเพื่อมาทำเป็นอาหาร เช่น ลาบนกคุ่ม, อ่อมพังพอน, คั่วงูสิง, อ่อมหนู ฯลฯ สารพัดสารสารเพที่ชาวอีสานนำมาประกอบเป็นอาหารเพื่อเลี้ยงชีพ

ในสมัยนั้นความสะดวกสบายเครื่องใช้ไม้สอยหายากนัก ความเจริญไม่มีเลย ไม่มีโรงเรียนประชาบาล จะมีก็แต่โรงเรียนวัดที่มีพระเป็นครูสอน พออ่านออกเขียนได้ ส่วนมาเด็กจะอยู่บ้านช่วยพ่อแม่ทำมาหากิน ความอดอยากความแห้งแล้งมีให้เห็นอยู่ทั่วไป ชาวบ้านบางส่วนต้องพากันย้ายบ้าน ไปทำมาหากินถิ่นอื่นที่มีความอุดมสมบูรณ์กว่า ดั่งคำอีสานที่เล่าต่อกันมาว่า “ดินดำน้ำชุ่ม ปลากุ่มบ้อน คือแข่แก่งหาง” แต่ในที่สุดธรรมชาติก็ไม่เคยละทิ้งผู้ที่ทุกข์ยากตรากตรำกรำแดดอย่างชาวนา พอถึงฤดูกาลทำนาก็ดลบันดาลให้ฟ้าหลังฝนเพื่อให้ชาวนาและชาวโลกได้มีอาหาร มีข้าวกินตลอด ดังนั้น ชาวนาอีสานจึงมีบุญคุณที่อุตสาห์ หลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดิน ตรากตรำทำนาเพื่อเลี้ยงคนส่วนมาของประเทศ

หนังสือเรื่องลูกอีสานสอนให้ผู้ที่ได้อ่าน มีความสำนึกถึงบรรพบุรุษของคนอีสานที่อดทนต่อความยากลำบากมาแต่โบราณ ตั้งแต่การทำไร่ทำนา สร้างบ้านสร้างชุมชน ตั้งแต่สังคมเล็กๆ จนเป็นสังคมที่ใหญ่โต มีความเจริญแทบจะทุกด้าน สอนให้รู้จักกับความขยันหมั่นเพียรในการทำงาน และสอนให้ผู้อ่านรู้จักรักถิ่นฐานบ้านเกิดมากยิ่งขึ้น

ไม่มีความคิดเห็น: