วันอังคารที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2553

หนังสือเรื่องวิถีเรียบง่าย ชีวิตนอกกรอบ (คอก) เมื่อวันที่ระบอบเศรษฐกิจไม่สามารถตอบโจทย์ชีวิตได้

เขียนโดย พงษ์ ผาวิจิตร
สำนักพิมพ์ busy-day
วิไลวรรณ ว่าเที่ยง
.สุรินทร์

เป็นหนังสือที่เขียนจากประสบการณ์ตรงบวกกับการหาคำอธิบายเพิ่มเติมจากทฤษฎี และทันสถานการณ์ปัจจุบันของโลก ทำให้รู้เท่าทันเข้าใจ กับสถานการณ์ของโลก เป็นการเรียนรู้ชีวิตเพื่อ สังเคราะห์ความรู้ใหม่เพื่อแก้ปัญหาใหม่ ช่วยสะท้อนแนวคิดและให้แง่คิดในการดำเนินชีวิต ในเรื่องวิถีชีวิตเรียบง่าย ซึ่งหลายๆคนอาจให้ความหมายที่แตกต่างกันไปแต่ในหนังสือเล่มนี้ได้เอาความหมายของ นักเขียนชื่อว่า ดูแอน เอลจิน (Duane Elgin) ซึ่งเป็นนักคิด นักกิจกรรมในเรื่องเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม และเรื่องอนาคตศาสตร์ โดยให้คำจำกัดความง่ายๆว่า

วิถีชีวิตเรียบง่ายคือ การใช้ชีวิตเรียบง่ายภายนอก แต่ร่ำรวย หรูหรา ภายใน (Living in a way that is outwardly simply and inwardly rich) ซึ่งก็ไม่ได้หมายความว่า การใช้ชีวิตเรียบง่าย จะต้องเป็นอยู่อย่างอัตคัต ขัดสน ยากจน แต่เป็นการอยู่อย่างมีสติ ใช้เท่าที่ต้องใช้ และไม่ไขว่คว้าหาสิ่งที่ไม่จำเป็นให้ปวดหัว

ในการเลือกอย่างเรียบง่าย โดยเลือกสิ่งที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตและทรัพยากรที่เรามีอยู่ และไม่ต้องเลือกมาก เลือกเอาอันที่เป็นหลักๆในชีวิต แล้วลงไปในรายละเอียดของมันให้ลึกที่สุดจริงจังที่สุด
อันแรกคือให้กลับไปทบทวนชีวิตประจำวันในด้านต่างๆทั้งการกินอยู่ การเดินทาง การทำมาหากิน ความอยากทั้งหลาย เป็นต้น
- การเข้าใจคนอื่นอย่างง่ายๆ ไม่ต้องไปตีความให้ยุ่งยาก
- การเลือกที่อยู่ติดดิน เดินเท้าเปล่า ใช้พลังงานเท่าที่จำเป็น ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะต่อโลก
- การตัดสิ่งที่ไม่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของเรา และหัดทักษะบางอย่างที่จะทำให้เราใช้ชีวิตพึ่งพาตนเองได้ และบางทักษะที่สามารถหาเงินมาจุนเจือตัวเองได้ เช่นการปลูกผักกินเอง งานซ่อมแซมเครื่องใช้ในบ้าน
- การกลับไปสู่รากเดิมของมนุษย์ที่มาจากธรรมชาติ
- การพัฒนาชีวิตในด้านจิตวิญญานด้วยการนั่งสมาธิ
- การตัดสิ่งรบกวนใจเราทั้งที่เป็นวัตถุหรือไม่ก็ตาม ให้เน้นแต่แก่นที่เป็นสาระสำคัญ คือทำให้ชีวิตประจำวันง่ายที่สุดเท่าที่จะทำได้

เหล่านี้คือปฐมบทสำหรับผู้แสวงหาความเรียบง่าย
วิถีชีวิตเรียบง่าย (Volunteer Simplicity) ไม่ใช่การหันหลังกลับไปสู่ธรรมชาติแบบดั้งเดิม การอาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ก็ทำได้ ไม่ถึงกับทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ถึงกับอดอยากหรือต้องทรมานตนเอง และก็ไม่ใช่ห่วงโซ่ของการพัฒนาทางสังคมที่อยู่สูงสุด ไม่ใช่ปรัชญาชีวิตที่สูงส่งอะไรทั้งสิ้น แต่อาศัยเพียงจิตสำนึกในการพิจารณาทางเลือกที่เหมาะสมกับเราที่สุดในห้วงเวลาหนึ่งๆ ดังที่อัลเบิรต์ ไอน์สไตน์เคยกล่าวไว้ว่า
“ เราไม่สามารถแก้ปัญหาด้วยหลักการที่เป็นต้นเหตุของปัญหา” ดังนั้นวิกฤตเศรษฐกิจในชีวิต จึงแก้ไม่ได้ด้วยระบอบเศรษฐกิจ แต่ถ้าเราปรับวิถีชีวิตบางส่วนของเราออกนอกระบอบเศรษฐกิจชีวิตก็จะง่ายขึ้น

ไม่มีความคิดเห็น: